เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1453
วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินค่าทดแทนการรอนสิทธิที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) มาตรา 50(4) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย ก. ได้ซื้อที่ดิน เนื้อที่ 12 ไร่ 300 ตารางวา ในราคาไร่ละ 300,000 บาท ต่อมาการไฟฟ้าได้รอนสิทธิในที่ดิน ที่ถือครองโดยก่อสร้างเสาสายส่งไฟฟ้าและเดินสายส่งไฟฟ้าเหนือพื้นดินของนาย ก. จำนวน 9 ไร่ 111 ตารางวา และได้รับ เงินค่าทดแทนการเสียประโยชน์จาก การไฟฟ้าจำนวน 1,138,739.39 บาท และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 11,387.39 บาท ซึ่งการรอนสิทธิในที่ดินทำให้นาย ก. ไม่สามารถปลูกสร้างบ้านเรือน อาคาร หรือทำการเกษตรไม้ยืนต้นและไม้ผลได้ นอกจากทำนาและเพาะปลูกไม้ล้มลุกขนาดเล็กเท่านั้น ท่านจึงขอหารือว่า เงินค่าทดแทนการรอนสิทธิในที่ดิน ถือเป็นเงินได้ พึงประเมินที่จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และหักค่าใช้จ่ายอย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีเงินค่าทดแทนที่การไฟฟ้าจ่ายให้แก่นาย ก. เนื่องจากการถูกรอนสิทธิในที่ดินที่ถือครองดังกล่าว ไม่ใช่เงิน ค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นาย ก. จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (29) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ดังนั้น เงินค่าทดแทนที่นาย ก. ได้รับดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวล รัษฎากร การไฟฟ้าผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 50 (4) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก. ผู้ได้รับเงินได้พึงประเมิน ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36445

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020