เลขที่หนังสือ | : กค 0702/1253 |
วันที่ | : 18 กุมภาพันธ์ 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้ของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 39 มาตรา 50 และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า บริษัท ร. และบริษัท พ. และคณะกรรมการบริหาร กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าบริษัท ค. (กองทุนฯ) หารือเกี่ยวกับภาระภาษีของกองทุนฯ ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรเงินทุนซึ่งได้มาจากการไฟฟ้าหรือโรงไฟฟ้าตามจำนวนที่คณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติกำหนดดอกผลและผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฯ และรายรับอื่น เพื่อใช้ในการพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ อันประกอบด้วย กรรมการผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนโรงไฟฟ้า และผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนขอทราบภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับ ประมวลรัษฎากรว่าเป็นอย่างไร | แนววินิจฉัย | 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.1 กองทุนฯ เข้าลักษณะเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เมื่อกองทุนฯ ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า เงินที่ได้รับดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร กองทุนฯ ต้องนำเงินได้ดังกล่าว มารวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยมีสิทธิหักค่าใช่จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร และมีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับ ผู้มีเงินได้ตามจำนวนบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาทเมื่อได้หัก ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ถือเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ และยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 46 มาตรา 47(6) และมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึง ประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 1.2 กรณีกองทุนฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กองทุนฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากกองทุนฯ เข้าหลักเกณฑ์ เป็นกองทุนฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวง ทบวง กรม เพื่อกระทำกิจการตาม นโยบายของทางราชการ โดยมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ของทางราชการและถ้ามีเงินเหลือก็จะจ่ายคืนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยกรรมการหรือบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกองทุนดังกล่าว มิได้รับเงินได้หรือผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน นอกเหนือจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)และ (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ถือได้ว่ากองทุนฯ ทำหน้าที่แทนกระทรวง ทบวง กรม และผู้ประกอบการย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกองทุนฯ กระทำกิจการในราชอาณาจักรอันเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการ โดยผู้ประกอบการ หรือ การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กองทุนฯ มีหน้าที่ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 72/36412 |