เมนูปิด

กฎกระทรวง
ฉบับที่ 268 (พ.ศ. 2552)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
-----------------------------------------

                         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
                         ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น ( 79 ) ของข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
                         “(79) เงินได้ที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยได้รับโดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ”

ให้ไว้ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

กรณ์ จาติกวนิช
(นายกรณ์ จาติกวนิช)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากสภากาชาดไทยได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยมีสิทธิได้รับเงินในระหว่างที่รับบำนาญและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเงินที่ได้รับดังกล่าวจะนำไปหักออกจากบำเหน็จตกทอดเมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย โดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และโดยที่บำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายดังกล่าวได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ประกอบกับเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย สมควรกำหนดให้เงินซึ่งเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยได้รับในกรณีดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

(ร.จ.ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 126 ตอนที่ 13 ก วันที่ 6 มีนาคม 2552)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022