เลขที่หนังสือ | : กค 0702/88 |
วันที่ | : 7 มกราคม 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แก่พนักงาน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ตรี มาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัท ท. ประกอบธุรกิจให้เช่าและจำหน่ายเครื่องจักรมือสอง บริษัทฯ ได้ให้พนักงานขายออกไปหาลูกค้า โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวของพนักงานเอง บริษัทฯ จึงคิดเปรียบเทียบว่า หากบริษัทฯ ซื้อรถยนต์มาไว้สำหรับพนักงานขายทุกคน บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบในค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมแซม ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าทะเบียน และค่าน้ำมัน แต่หากให้พนักงานขายนำรถยนต์ส่วนตัวขอพนักงานมาใช้ และบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนตามกิโลเมตรที่ใช้ไปจริงในการปฏิบัติงาน จะเป็นการประหยัดต้นทุของบริษัทฯ มากกว่าการที่บริษัทฯ ซื้อรถยนต์เอง บริษัทฯ จะคำนวณค่าตอบแทนจาก 2 ส่วน ได้แก่
1. คำนวณจากราคาน้ำมัน 1 ลิตร ต่อ 10 กิโลเมตร เช่น น้ำมันดีเซลลิตรละ 36.84 บาท เท่ากับ 3.68 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร และน้ำมันเบนซินลิตรละ 37.99 บาท เท่ากับ 3.80 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร 2. คำนวณโดยนำผลต่างของราคาระหว่างรถยนต์ใหม่กับรถยนต์ที่ใช้งานแล้ว 100,000 กิโลเมตร และคำนวณออกมาเป็นต่อกิโลเมตร เช่น รถยนต์ใหม่ราคา 600,000 บาท ใช้ไป100,000 กิโลเมตร ราคารถยนต์หลังใช้งานแล้วอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท (คำนวณจากราคาตลาดโดยเฉลี่ย) สรุปว่า มูลค่ารถยนต์ลดลงไป 300,000 บาท ซึ่งเท่ากับ 3 บาทต่อ 1 กิโลเมตร) การคำนวณข้างต้น บริษัทฯ ได้อนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับน้ำมันดีเซล 6.50 บาท ต่อกิโลเมตร และน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 7 บาท ต่อกิโลเมตร (ตามราคาน้ำมัน ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2551) ในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว บริษัทฯ ระบุไว้ในระเบียบบริษัทฯ และมีการติดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน พนักงานขายทุกคนจะต้องทำรายงานการเดินทาง โดยให้พนักงานรักษาความปลอดภัย จดเลขกิโลเมตรทั้งไปและกลับ มีการขออนุมัติจากหัวหน้างาน แนบใบเสร็จค่าน้ำมันที่ระบุ เลขทะเบียนรถซึ่งต้องตรงกับที่นำไปใช้ในการปฏิบัติงาน บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ สามารถนำค่าตอบแทนที่จ่ายไปในกรณีดังกล่าวมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน และพนักงานก็ไม่ต้องนำไปถือเป็นรายได้ เพราะเป็นการชดเชยที่พนักงานต้องลงทุนซื้อรถยนต์เพื่อมาใช้ในการปฏิบัติงานและรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์บริษัทฯ ไม่ได้ร่วมรับผิดชอบ บริษัทฯ ถือว่าเป็นอัตราที่ยุติธรรมที่สุดแล้วระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน บริษัทฯ จึงขอทราบว่าถูกต้องหรือไม่ | แนววินิจฉัย | 1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานของบริษัทฯ ตามจำนวนที่จ่ายจริงในกรณีที่พนักงานใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปทำงานให้บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯๆ มีสิทธินำค่าน้ำมันดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิได้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าน้ำมันรถยนต์
ส่วนที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเกินกว่าจำนวนที่พนักงานของบริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีพนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าน้ำมันไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องมีหลักฐานการใช้รถยนต์และพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบ ไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมด เพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นด้วย ประกอบกับบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมัน รถยนต์ได้ และมีหนังสืออนุญาตพร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ใดถึงที่ใดระยะทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้ชัดเจน |
เลขตู้ | : 72/36317 |