เลขที่หนังสือ | : กค 0702/138 |
วันที่ | : 9 มกราคม 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินได้จากการเป็นตัวแทนขายประกันชีวิต |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(2) มาตรา 40(8) และมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | นาย ก. มีอาชีพรับราชการครู และประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนขายประกันชีวิต ซึ่งต้องมีการลงทุนจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีลูกจ้างพนักงานที่ต้องจ่ายเงินเดือน มีค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่ารับรองหรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่อหาลูกค้า ในปีภาษี 2550 นาย ก. มีรายได้จากการเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตเป็นจำนวนเงิน 1,165,566.92 บาท นาย ก. จึงขอทราบว่า
1. เงินได้จากการเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตดังกล่าว ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และสามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ใช่หรือไม่ 2. หากมีรายรับจากการเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช่หรือไม่ | แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 1. เงินได้จากการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนตามกฎหมายว่าด้วยการรับประกันวินาศภัยหรือกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ต้องไม่เกิน 60,000 บาท แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการตั้งเป็นสำนักงาน ซึ่งต้องลงทุนจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีลูกจ้างพนักงานต้องจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่ารับรองหรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่อหาลูกค้า ซึ่งเมื่อรวมทั้งปีแล้วสูงกว่าอัตราร้อยละดังกล่าว กรมสรรพากรอนุโลมให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
2. กรณีตาม 2. รายรับที่ได้จากการประกอบกิจการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนประกันชีวิต ถือเป็นรายรับจากการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร หากมีรายรับเกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากนาย ก. มีรายรับจากการเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ดี นาย ก. ซึ่งประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนดเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 72/36324 |