เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/360
วันที่: 19 มกราคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)
ข้อหารือ           ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิตได้ออกผลิตภัณฑ์แบบใหม่ ได้แก่ กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit - Linked) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่บริษัทประกันชีวิตขายควบกับกองทุนรวม ทำให้ผู้ซื้อกรมธรรม์ได้รับทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันชีวิตและได้ลงทุนในกองทุนรวม โดยเงินที่จ่ายซื้อกรมธรรม์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
           1. ค่าเบี้ยประกันชีวิต สำหรับการให้ความคุ้มครองตามที่กรมธรรม์ประกันชีวิตกำหนด ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารเอง และบริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการนำเบี้ยประกันชีวิตไปลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินประเภทต่างๆ เอง
           2. ส่วนที่จัดสรรเข้าไปเป็นส่วนเงินลงทุนตามสัดส่วนที่ระบุในกรมธรรม์ ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกัน โดยบริษัทที่รับจัดการเงินดังกล่าวจะออกหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เอาประกัน โดยบริษัทประกันชีวิตและบริษัทที่รับจัดการมิได้รับประกันผลตอบแทนของเงินลงทุน กล่าวคือ ผู้เอาประกันเป็นผู้ตัดสินใจเลือกกองทุนรวมที่จะลงทุน มูลค่าที่จะลงทุน และเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการลงทุนด้วยตนเอง
           จึงขอทราบว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนดังกล่าว ผู้เอาประกันมีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย           กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนดังกล่าว ผู้เอาประกันมีสิทธิหักลดหย่อนภาษีได้เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตและมีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เฉพาะเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิต ตามกฎหมาย ดังนี้
           1. ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับสิทธิหักลดหย่อนเฉพาะ เบี้ยประกันชีวิตที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และ การประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
           2. ตามข้อ 2 (61) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
เลขตู้: 72/36345

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020