เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 481)
พ.ศ. 2552
-----------------------------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
เป็นปีที่ 64 ในรัชกาลปัจจุบัน

                        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
                        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน บางกรณี
                        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                        มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 481) พ.ศ. 2552"

                        มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วัดถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

                        มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 439) พ.ศ. 2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                   “(2) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554”

                        มาตรา 4 ให้ยกเลิก (ก) ในวรรคหนึ่งของ (3) ของมาตรา 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 396) พ.ศ. 2545

                        มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 5 ทวาวีสติ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
                                   “มาตรา 5 ทวาวีสติ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการโอนหุ้นในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                                   (1) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามมาตรา 5 อัฏฐารส (1)(2)(3) วรรคหนึ่ง (4) และ (5)
                                   (2) เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเป็นกิจการที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินเกินสองร้อยล้านบาท หรือมีการจ้างแรงงานเกินสองร้อยคน
                                   (3) หุ้นที่โอนต้องเป็นหุ้นที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ถือไว้ก่อนที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลอดระยะเวลาที่รัฐวิสาหกิจนั้นมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
    อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
     นายกรัฐมนตรี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ: เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยขยายเวลาการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และยกเลิกเงื่อนไขการถือหุ้นในปีแรก
ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินซึ่งบริษัทหรือ
ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับจากการโอนหุ้นของวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อมซึ่งเข้าจดทะเบียน
ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


                                   (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 126 ตอนที่ 31 ก วันที่ 18 พฤษภาคม 2552)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022