เมนูปิด
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย

-------------------------------

                     อาศัยอำนาจตามความในวรรคสาม แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ. 2552) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ดังต่อไปนี้

                     ข้อ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
                             (1) ต้องเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552
อสังหาริมทรัพย์ตามวรรคหนึ่งต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือห้องชุดมาก่อน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
                             (2) การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อตาม (1) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเท่ากับจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท โดยต้องจ่ายไปในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552
                             (3) กรณีผู้มีเงินได้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อหลายแห่ง ให้ได้รับยกเว้นภาษีได้ทุกแห่งรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท
                             (4) กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันซื้อ ให้ได้รับยกเว้นภาษีได้ทุกคน โดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนของกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน แต่รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 300,000 บาท
                             (5) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
                             (6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีดังนี้
                                  (ก) ถ้าภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ได้รับยกเว้นภาษีรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท
                                  (ข) ถ้าภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีได้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท
                             (7) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งต้องยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีดังนี้
                                  (ก) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกัน ซึ่งความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างยังคงได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
                                  (ข) กรณีผู้มีเงินได้สมรสกัน ต่อมามีสิทธิได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีได้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท

                     ข้อ 2 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยหนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้

                     ข้อ 3 ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย

                     ข้อ 4 กรณีผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษี ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีไปแล้ว ไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และกรณีที่ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมของปีภาษี

                     ข้อ 5 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

                     ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร

เอกสารแนบ

 


 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022