เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2893
วันที่: 20 เมษายน 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีสถานะและการประกอบกิจการ ของสหกรณ์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. สหกรณ์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามแบบ ภ.ง.ด. 50 หรือไม่ และเงินได้พึงประเมินของ สหกรณ์จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
          2. สหกรณ์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินเดือน และค่าซ่อมแซมอาคาร ของสหกรณ์ หรือไม่ อย่างไร
          3. การขายเมล็ดทานตะวันแก่นิติบุคคลอื่น โดยขายไปทั้งเมล็ดตามที่เกษตรกรในกลุ่มได้นำมาจำหน่าย หรือ การนำ เมล็ดทานตะวันดังกล่าวมาปรุงแต่ง บรรจุหีบห่อที่มีตราหรือชื่อของสหกรณ์ติดอยู่ กรณีเช่นนี้ สหกรณ์จะต้องจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่ม และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ อย่างไร
          4. การที่สหกรณ์ได้นำเงินค่าสมาชิก ค่าธรรมเนียม มาให้เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกกู้ยืม การดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว นี้ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. หากสหกรณ์จัดตั้งเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 สหกรณ์ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น ผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมินให้แก่สหกรณ์ดังกล่าว ไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
          2. สหกรณ์ตาม 1. เมื่อจ่ายเงินได้พึงประเมิน พิจารณาได้ดังนี้
               2.1 กรณีสหกรณ์จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานของสหกรณ์ ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
               2.2 กรณีสหกรณ์จ่ายเงินค่าซ่อมแซมอาคารของสหกรณ์ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้ค่าจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์มีหน้าที่ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          3. การประกอบกิจการขายเมล็ดทานตะวัน โดยขายไปทั้งเมล็ดตามที่ได้ซื้อมาจากเกษตรกรให้แก่นิติบุคคลอื่น ถือเป็น การขายพืชผลทางการเกษตร ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่การขายเมล็ดทาน ตะวันที่ได้แปรรูปหรือ แปรสภาพเป็นอาหาร หรือเป็นสินค้าอื่นแล้ว ไม่ว่าจะบรรจุกระป๋องภาชนะหรือหีบห่อที่ผนึกในลักษณะมั่นคง หรือไม่ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
          4. สหกรณ์ประเภทต่างๆ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิก หรือแก่สหกรณ์อื่น ตามมาตรา 91/3(3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36544

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020