เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2648
วันที่: 2 เมษายน 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าตอบแทนจากการให้บริการติดต่อและจัดหาลูกค้าในต่างประเทศโดยบุคคลผู้มีถิ่นที่ อยู่ในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 วรรคสอง มาตรา 50(1) และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ฟ. (บริษัทฯ) ได้ว่าจ้างบุคคลธรรมดาสัญชาติจอร์แดน ทำหน้าที่หาลูกค้าในประเทศแถบตะวันออกกลางให้กับ บริษัทฯ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ จะจ่ายค่านายหน้าในอัตราร้อยละ 10 ของยอดขายให้แก่บุคคลธรรมดาดังกล่าว เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระ ค่าสินค้าจากลูกค้าเรียบร้อยแล้ว
          2. สินค้าจะส่งตรงจากประเทศผู้ผลิตไปยังประเทศของลูกค้าปลายทาง โดยมิได้ส่งสินค้าผ่านเข้ามาในประเทศไทย และมิได้นำเงินได้ค่านายหน้าดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย
          3. บริษัทฯ หารือดังนี้
               3.1 เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าให้แก่บุคคลธรรมดาดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
               3.2 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 36 หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. เนื่องจากค่าตอบแทนจากการให้บริการในต่างประเทศโดยบุคคลธรรมดาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุคคลธรรมดาดังกล่าว มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมิได้นำเงินได้พึงประเมินนั้น เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน บุคคลธรรมดาดังกล่าว ไม่มีหน้าที่ต้อง เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีที่บริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าให้กับบุคคลธรรมดาดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ที่ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ตามนัยมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 72/36515

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020