เลขที่หนังสือ | : กค 0702/2747 |
วันที่ | : 7 เมษายน 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย |
ข้อกฎหมาย | : - |
ข้อหารือ | สหกรณ์ฯ ได้เปิดให้บริการเงินกู้พิเศษ เพื่อการเคหะสงเคราะห์แก่สมาชิก โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของเงินกู้ประเภทดังกล่าวไว้ ดังนี้
1. เพื่อซื้อที่ดินพร้อมบ้าน อาคารพาณิชย์ หรือทาวเฮาส์ หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง กรณีการกู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน จะต้องเป็นการกู้เพื่อดำเนินการในคราวเดียวกัน 2. เพื่อซื้ออาคารชุด หรือห้องชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง 3. เพื่อปลูกสร้างบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเองบนที่ดินของตนเอง หรือของคู่สมรส หรือของบิดาหรือมารดา หรือบนที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับคู่สมรส หรือบิดา และหรือมารดา 4. เพื่อปลูกสร้าง ต่อเติม หรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตนเอง 5. เพื่อไถ่ถอนบ้าน หรือบ้านพร้อมที่ดิน หรืออาคารชุด หรืออาคารที่พักในรูปแบบอื่น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง ที่ได้จำนองอันเนื่องจากการกู้เงินเพื่อการเคหะจากสถาบันการเงินอื่น สหกรณ์ฯ จึงขอหารือเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแก่สมาชิก เพื่อนำไปขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้ 1. ตาม 1 ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) กำหนดเจ้าหนี้ไว้ 3 ประเภท ได้แก่ (1) ผู้ให้กู้ยืม (2) เจ้าหนี้ใหม่ (กรณีแปลงหนี้) และ (3) เจ้าหนี้ใหม่ (กรณีชำระหนี้เงินกู้ยืม) หากสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 1-4 ถือว่าสหกรณ์เป็นผู้ให้กู้ยืม ตาม 1(1) ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) และกรณีสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิก เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 5 ถือว่า สหกรณ์ฯ เป็นเจ้าหนี้ใหม่ ตาม 1(3) ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) ใช่หรือไม่ 2. ตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 กำหนดว่า "เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ ตนเองมีสิทธิครอบครอง" กรณีดังกล่าวจะครอบคลุมที่ดินของตนเองที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับคนอื่น หรือไม่ หากเป็นที่ดินของคู่สมรส ของบิดา หรือของมารดา ไม่มีสิทธิยกเว้นภาษี ใช่หรือไม่ | แนววินิจฉัย | 1. กรณีสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 1-4 ถือว่า สหกรณ์ฯ เป็นผู้ให้กู้ยืมตาม 1(1) ของ หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) และกรณีสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร หรือสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยหรือห้องชุดในอาคารชุดแก่เจ้าหนี้เดิม เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น ถือว่า สหกรณ์ฯ เป็น "เจ้าหนี้ใหม่" (กรณีชำระหนี้เงินกู้ยืม) ตาม 1(3) ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02)
2. กรณีตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 กำหนดให้การยกเว้นเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมต้องเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญาการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ อาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิ ครอบครอง ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากการให้กู้ยืมเงินของสหกรณ์ฯ ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว จะต้องเป็นการให้กู้ยืม เงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือเพื่อซื้อห้องชุดในอาคารชุดไว้เป็นที่อยู่อาศัยประจำสำหรับตนเอง หรือเพื่อสร้างอาคาร ใช้อยู่อาศัยบนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ของคู่สมรส ของบุตร ของบิดา หรือของมารดา ซึ่งผู้กู้ต้องมีสิทธิครอบครองในที่ดิน ดังกล่าวเท่านั้น และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว |
เลขตู้ | : 72/36529 |