เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2652
วันที่: 2 เมษายน 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ
ข้อหารือ          บริษัท ก. ขอทราบว่า
          1. บริษัท ฮ. (นายจ้าง) ซึ่งเป็นกองทุนได้จัดทำข้อบังคับการทำงานโดยกำหนดเกี่ยวกับการเกษียณอายุไว้ ดังนี้
          "การเกษียณอายุ หมายถึง พนักงานของบริษัทฯ เมื่อครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นการชอบด้วยกฎหมายที่บริษัทฯ จะเลิกจ้างพนักงานในวันสุดท้ายแห่งปีปฏิทินที่มีอายุครบ ในกรณีนี้ บริษัทฯ ไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอีก โดยพนักงานจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เว้นแต่จะได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นอย่างอื่น" ต่อมานายจ้างได้จดทะเบียน ข้อบังคับการทำงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกษียณอายุล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
          "การเกษียณอายุงานล่วงหน้า พนักงานที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปและมีอายุงานมากกว่า 5 ปี มีสิทธิที่จะเสนอตัวเพื่อ ขอรับการพิจารณาการเกษียณอายุล่วงหน้า และบริษัทโดยกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจะเป็นผู้พิจารณา ตัดสินใจในการอนุมัติคำขอดังกล่าว ระเบียบปฏิบัติ พนักงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบของบริษัท สามารถแสดงความจำนง ต่อบริษัทหรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด และบริษัท/คณะกรรมการของบริษัทจะพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน ปีงบประมาณของบริษัท และจะมีผลบังคับที่วันสิ้นปีงบประมาณของบริษัทสิทธิประโยชน์ต่างๆ พนักงานมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ ต่างๆ เช่นเดียวกับการเกษียณอายุปกติตามระเบียบของบริษัทและตามกฎหมาย" ในกรณีดังกล่าว พนักงานที่ออกจากงานด้วย การเกษียณอายุล่วงหน้าตามข้อบังคับการทำงานเพิ่มเติม โดยพนักงานนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี และนายจ้างมีหนังสือรับรองว่าพนักงานได้เกษียณอายุตามข้อบังคับการทำงานเพิ่มเติมว่าด้วยการเกษียณอายุ ล่วงหน้า เงินที่พนักงานดังกล่าวได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 หรือไม่
          2. นายจ้างดังกล่าว ได้ทำข้อตกลงกับพนักงานบางรายเพื่อกำหนดอายุเกษียณของพนักงานไว้โดยเฉพาะ โดยข้อตกลงเป็น ลายลักษณ์อักษรกับพนักงานเป็นรายบุคคล และกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 56 ปี ซึ่งแตกต่างจากข้อบังคับการทำงานและข้อบังคับ การทำงานเพิ่มเติม โดยพนักงานดังกล่าวเกษียณอายุในวันสุดท้ายของเดือนกันยายนของปีที่พนักงานนั้นมีอายุ 56 ปีบริบูรณ์ (เนื่องจากเดือนกันยายนจะเป็นวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของนายจ้างรายนี้) ในกรณีดังกล่าว พนักงานที่ออกจากงานด้วยการ เกษียณอายุตามข้อตกลงที่ทำไว้กับนายจ้าง โดยพนักงานนั้นมีอายุและเงื่อนไขการเกษียณอายุเป็นไปตามที่ระบุไว้ในข้อตกลง และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และนายจ้างมีหนังสือรับรองว่าพนักงานได้เกษียณอายุตามข้อตกลงที่เป็น ลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง เงินที่พนักงานดังกล่าวได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีพนักงานออกจากงานตามข้อบังคับการทำงานเพิ่มเติม โดยพนักงานมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนฯ มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นายจ้างมีหนังสือรับรองว่าพนักงานได้เกษียณอายุตามข้อบังคับการทำงานเพิ่มเติมว่าด้วยการเกษียณอายุ ล่วงหน้า และกรณีพนักงานออกจากงานด้วยการเกษียณอายุตามข้อตกลงที่ทำไว้กับนายจ้าง โดยพนักงานนั้นมีอายุ 56 ปี และ เงื่อนไขการเกษียณอายุเป็นไปตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงที่ทำไว้กับนายจ้าง ตามข้อเท็จจริงทั้ง 2 กรณีดังกล่าว หากเป็นการออก จากงานเมื่อพนักงานมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้าง แรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และพนักงานเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และตามข้อ 1(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
เลขตู้: 72/36518

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020