เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.05)/1041
วันที่: 15 พฤษภาคม 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ท. (บริษัทฯ) ได้ขายสินค้าให้บริษัท พ.และได้ออกใบกำกับภาษี ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 มูลค่าสินค้าจำนวน 6,812,803.74 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 476,896.26 บาท โดยส่งมอบใบกำกับภาษีให้กับบริษัท พ. ในวันที่ 31 มีนาคม 2549 ต่อมาบริษัทฯ พบว่า ใบกำกับภาษี ดังกล่าวมีข้อผิดพลาดโดยชื่อบริษัทฯ พิมพ์เป็น "บริษัท ท. จำกัดด" บริษัทฯ จึงออกใบกำกับภาษี ใหม่ที่ถูกต้องโดยใช้เลขที่ใบกำกับภาษีและลงวันที่เดียวกันกับฉบับเดิม โดยไม่มีเจตนาที่จะทำให้เกิดการออกใบกำกับภาษีซ้ำซ้อน บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีขายครบถ้วนถูกต้องและได้เรียกใบกำกับภาษีฉบับเดิมคืนเพื่อยกเลิกและจะนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้แก่ ลูกค้า ซึ่งบริษัท พ. ได้นำใบกำกับภาษีฉบับเดิมมาลงรายงานสินค้าและวัตถุดิบและรายงานภาษีซื้อเพื่อเครดิตภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ในเดือนภาษีเมษายน 2549 และยังไม่สามารถส่งคืนบริษัทฯ ได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ส่วนใบกำกับภาษีฉบับใหม่ยังอยู่ที่บริษัทฯ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ขอสำเนาใบกำกับภาษีจากบริษัทฯ เพื่อสอบยัน บริษัทฯ จึงได้จัดส่งสำเนาใบกำกับภาษีฉบับที่ทำขึ้นใหม่ให้แก่เจ้าหน้าที่ จึงเป็นเหตุให้ต้นฉบับและคู่ฉบับไม่ตรงกัน
          เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าการออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ของบริษัทฯ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เนื่องจากการออกใบกำกับภาษีฉบับเดิมของบริษัทฯ เป็นความผิดที่ไม่เป็นสาระสำคัญตามข้อ 4 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวซึ่งถือว่ามีข้อความครบถ้วนแล้วจึงเป็นใบกำกับภาษีที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ส่วนใบกำกับภาษีฉบับใหม่เป็นการออกใบกำกับภาษีซ้ำซ้อนและเป็นการออกโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (6) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องรับผิด ทางอาญาตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับความรับผิดทางอาญา บริษัทฯ ไม่มีเจตนาในการหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงเห็นควรไม่ต้องดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด จึงขอทราบว่าความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าและได้ออกใบกำกับภาษีให้กับบริษัท พ. โดยใบกำกับภาษีพิมพ์ชื่อผู้ขายสินค้าว่า "บริษัท ท. จำกัด" บริษัทฯ ได้เรียกใบกำกับภาษีฉบับเดิมคืนเพื่อยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องโดยใช้เลขที่และลงวันที่เดียวกันกับ ใบกำกับภาษีฉบับเดิม บริษัทฯ ไม่มีเจตนาจะออกใบกำกับภาษีซ้ำซ้อนแต่เหตุที่ยังมิได้ส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับใหม่ เนื่องจาก บริษัท พ. อยู่ระหว่างการตรวจของเจ้าพนักงานประเมิน สำนักงานสรรพากรพื้นที่ จึงยังมิได้รับใบกำกับภาษีฉบับเดิมคืน กรณี ตามข้อเท็จจริงไม่ถือว่าบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร อนึ่ง ตามคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ป. 86/2542ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้ข้อผิดพลาดดังกล่าวไม่ถือเป็นสาระสำคัญอนุโลม ให้ไม่ต้องยกเลิกใบกำกับภาษี แต่ถ้าหากผู้เสียภาษีจะยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้ถูกต้องก็มี สิทธิที่จะกระทำได้ตัวอย่าง เช่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนแถมสินค้าให้แก่ลูกค้าภายหลังจากการขาย ถือเป็นการขายสินค้าตาม มาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดขึ้น แต่ไม่จำต้องจัดทำใบกำกับภาษีเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้าแต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนจะออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า ก็มีสิทธิที่จะกระทำได้ซึ่งใบกำกับภาษีดังกล่าวลูกค้าไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามมูลค่าในใบกำกับภาษีมาลงรายงานภาษีซื้อได้ เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวลูกค้ามิได้ถูกเรียกเก็บเนื่องจากการซื้อสินค้าตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (10) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 72/36616

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020