เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3497
วันที่: 7 พฤษภาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าตอบแทนที่จ่ายในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 วรรคหนึ่ง และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทยประกอบกิจการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ และ เครื่องยนต์อเนกประสงค์ บริษัทฯ มีบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทแม่ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นพนักงานประจำ ของบริษัทแม่มาทำงานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวประมาณ 1 ถึง 5 ปี ผู้เชี่ยวชาญจะได้รับค่าตอบแทนที่บริษัทแม่จ่ายใน ประเทศญี่ปุ่นและจากบริษัทฯ จ่ายในประเทศไทย ซึ่งค่าตอบแทนจากบริษัทแม่ที่จ่ายในประเทศญี่ปุ่น นั้น บริษัทแม่ไม่เคย เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากบริษัทฯ แต่ในปัจจุบันบริษัทแม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากบริษัทฯ โดยการวางบิล ค่าใช้จ่ายทุก 3 เดือน ซึ่งยอดที่เรียกเก็บในแต่ละงวดจะไม่เท่ากันและบริษัทฯ จะไม่ทราบจำนวนเงินที่เรียกเก็บในแต่ละ งวดล่วงหน้า จึงขอทราบว่าค่าใช้จ่ายที่บริษัทแม่เรียกเก็บทุก 3 เดือน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานชาวญี่ปุ่นที่ บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกเดือนหรือไม่ และจะต้องถือวันใดเป็นวันจ่ายเงินได้พึงประเมินในการคำนวณ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย          กรณีผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย โดยบริษัทแม่ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นจะจ่ายค่าตอบแทน ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญฯ และเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากบริษัทฯ ในภายหลัง ถือว่า บริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินค่าตอบแทน ให้แก่ผู้เชี่ยวชาญฯ ในวันที่บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นจ่ายเงินให้แก่ผู้เชี่ยวชาญฯ จึงต้องนำค่าตอบแทนดังกล่าวมารวมกับ เงินได้ที่จ่ายให้กับผู้เชี่ยวชาญฯ ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยไม่ว่าเงินได้นั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวล รัษฎากร นำส่งกรมสรรพากรด้วยแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1) ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือน ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
เลขตู้: 72/36595

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020