เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3441
วันที่: 7 พฤษภาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีได้รับเงินจาก การขาย ที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครอง ( ส.ค. 1)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48 มาตรา 40(8) มาตรา 50 และมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีได้รับเงินจากการขายที่ดิน ตามหนังสือแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1)
          1. เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2546 มีทายาทโดยธรรมรวม 7 คน และมีทรัพย์มรดกได้แก่ ที่ดิน ส.ค. 1 ทายาท ทั้ง 7 คนของเจ้ามรดกได้ร่วมกันครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 ดังกล่าว โดยมิได้มีการแบ่งแยก ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 ทายาทฯ ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอสอบเขตรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ดำเนินการออก โฉนดที่ดินให้แต่อย่างใด ทายาทฯ ได้ตกลงขายที่ดิน ส.ค. 1 ดังกล่าวให้แก่บริษัท เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2551 เป็นจำนวนเงิน 437 ล้านบาท จึงขอหารือว่า ความเห็นดังต่อไปนี้ถูกต้องหรือไม่
               1.1 การขายที่ดิน ส.ค. 1 เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ และมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่
               1.2 บริษัทผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินดังกล่าว มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (5) (ก) และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 วรรคสอง โดยบริษัทต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 48 (4) (ก) และคำนวณภาษี โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวล รัษฎากร สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นจากการขายอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการรับมรดก ให้แยกตามส่วนของแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์ รวมในอสังหาริมทรัพย์ ตามข้อ 4 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 100/2543 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและ อากรแสตมป์ กรณีการขาย การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
               1.3 เมื่อบริษัทได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งตามหลักเกณฑ์ข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 100/2543ฯ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 แล้ว ทายาทฯ แต่ละบุคคลมีสิทธิเลือกไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าว ไปรวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
               1.4 การขายที่ดินดังกล่าว ทายาทฯ ไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากเป็นการขายที่ดินที่ได้มาโดย การรับมรดก
               1.5 ใบรับจากการขายที่ดินไม่ต้องปิดอาการแสตมป์ เนื่องจากเป็นใบรับที่ไม่เป็นเหตุให้มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์
แนววินิจฉัย          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีทายาทฯ ขายที่ดิน ส.ค. 1 อันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้ มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ว่า ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในส่วนใด เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ของกองมรดก ซึ่งต้องเสียภาษี เงินได้ในนามของกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร กองมรดกเป็นผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามเกณฑ์ใน มาตรา 48 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการขายที่ดิน ส.ค. 1 มิได้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จึงต้องคำนวณราคาขายอสังหาริมทรัพย์ตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น และมีสิทธิเลือกเสียภาษีได้ตาม มาตรา 48 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ทายาทฯ ไม่มีหน้าที่นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาในนามตนเองแต่อย่างใด
          2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ การขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น ทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา ออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ดังนั้น เมื่อที่ดิน ที่ขายเป็นที่ดินที่มีเอกสารแสดงสิทธิ ส.ค. 1 การโอนการครอบครองไม่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การขายที่ดินดังกล่าวของทายาทฯ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษี ธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
          3. อากรแสตมป์ เนื่องจากการขายที่ดิน ส.ค. 1 ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรม จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ดังนั้น รายรับจากการขายที่ดินตามแบบ ส.ค. 1 ให้แก่บริษัทดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใด ๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ในเมื่อนิติกรรมที่เป็น เหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ในบังคับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้: 72/36587

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020