เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ.4901
วันที่: 22 มิถุนายน 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการขนส่ง
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8)(ฉ) มาตรา 77/2 มาตรา 79/3(5) มาตรา 82/6 มาตรา 85/15 มาตรา 87 มาตรา 87/3(2) มาตรา 81(1)(ด) และมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท น. ประกอบกิจการขนส่งภายในประเทศทั้งทางทะเลและทางบก โดยใช้เรือและรถบรรทุกเป็นยานพาหนะ บริษัทฯ มีความประสงค์จะรับจ้างขนส่งสินค้าจากประเทศสหภาพพม่าหรือประเทศอื่น มายังประเทศไทย และขนส่งสินค้าจาก ประเทศไทยไปยังประเทศสหภาพพม่าหรือประเทศอื่น ทั้งทางทะเลและทางบก บริษัทฯ จึงขอหารือ ดังนี้
          1. การขนส่งสินค้าจากประเทศสหภาพพม่าหรือประเทศอื่น มายังประเทศไทย และขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยัง ประเทศสหภาพพม่าหรือประเทศอื่น ถือเป็นการขนส่ง นอกราชอาณาจักร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
          2. การรับจ้างขนส่งปูนผสมเสร็จ (Ready Mix) ด้วยรถบรรทุกซึ่งติดตั้งเครื่องจักรที่ไม่ทำให้ปูนแห้งและแข็งตัว อยู่ใน บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
          3. การให้บริการขนส่งโดยรถยนต์ลักษณะใดบ้าง ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
          4. หากบริษัทฯ นำเรือซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปให้บุคคลภายนอกเช่า ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
          5. กรณีบริษัทฯ มีการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งก่อนที่บริษัทฯ จะมีการจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีทรัพย์สินที่ได้มาโดยการซื้อผ่อน และยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ โดยทรัพย์สินดังกล่าวใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ดังนั้น วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องดำเนินการอย่างไร
          6. หากบริษัทฯ เลิกประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลเพิ่ม แต่ยังคงประกอบกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทรัพย์สินที่มีอยู่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ วันที่ออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
แนววินิจฉัย          1. กรณีที่บริษัทฯ ให้บริการรับขน ตามมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แยกพิจารณาได้ดังนี้
               1.1 การให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรือเดินทะเลจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศหรือจากต่างประเทศมายังประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 0 ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 80/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร
               1.2 การให้บริการขนส่งสินค้าโดยรถยนต์ จากประเทศไทยไปยังต่างประเทศหรือจากต่างประเทศมายัง ประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่การขนส่งโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล ซึ่งได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ด) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีที่บริษัทฯ นำเรือไปให้บุคคลอื่นเช่า เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นบริการที่อยู่ ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีที่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาบริษัทฯ ได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ไปใช้ หรือ จะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ถ้าไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อเกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการดังกล่าว เป็นภาษีซื้อของ กิจการประเภทใด และเป็นภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในขณะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
          4. กรณีที่บริษัทฯ ต้องการออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากไม่มีการประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อไป บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) พร้อมคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ณ สถานที่ซึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ และมีหน้าที่ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่บริษัทฯ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ และไม่ต้องออกใบกำกับภาษีแต่อย่างใด ส่วนรายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่จัดทำอีกต่อไป แต่ต้องเก็บและรักษารายงานที่ตนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในวันเลิก ประกอบกิจการต่อไปอีกสองปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) มาตรา 79/3(5) มาตรา 85/15 มาตรา 87 และมาตรา 87/3(2) แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี
เลขตู้: 72/36683

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020