เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/4895
วันที่: 22 มิถุนายน 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีริบเงินค่าซื้อที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 มาตรา 79 มาตรา 91/2(6) มาตรา 4(5) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน อาคาร สำนักงาน เครื่องจักร และทรัพย์สินอื่นๆ บริเวณที่ตั้งโรงงานนิคมอุตสาหกรรมสระบุรี จังหวัดสระบุรี กับ บริษัท ส. "ผู้จะซื้อ" เป็นเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งสิ้น 821,710,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยสัญญาดังกล่าวได้แยกการซื้อทรัพย์สิน แต่ละรายการไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากทรัพย์สินที่ขายมีทั้ง อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ รวมอยู่ด้วย ซึ่งในวันทำสัญญา ผู้จะซื้อได้ชำระราคาค่าที่ดินให้บริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 40,000,000 บาท สำหรับค่าที่ดินส่วนที่เหลือและค่าอาคารสำนักงานและ โรงงาน เครื่องจักรและทรัพย์สินอื่นๆ ที่ยังไม่ชำระอีกจำนวน 781,710,000 บาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ซื้อจะนำมาชำระ ให้กับบริษัทฯ ก่อนโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 15 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา ต่อมาผู้จะซื้อไม่สามารถนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระ หนี้ตามเงื่อนไขได้ บริษัทฯ จึงแจ้งยืนยันการบอกเลิกสัญญาและริบเงินค่าที่ดินจำนวน 40,000,000 บาท ดังกล่าว บริษัทฯ จึง ขอทราบว่า การริบเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีประเภทใดบ้าง
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน อาคารสำนักงาน เครื่องจักรและทรัพย์สินอื่นๆ ของบริษัทฯ และผู้จะซื้อ ผิดสัญญาทำให้บริษัทฯ ยกเลิกสัญญาและริบเงินค่าที่ดินจำนวน 40,000,000 บาท บริษัทฯ จึงมีภาระภาษีดังต่อไปนี้
               1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีมีการผิดสัญญาและบริษัทฯ ได้ริบเงินค่าที่ดินซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันตามสัญญา หลักประกันที่ถูกริบดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับในการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ ของบริษัทฯ บริษัทฯ มีหน้าที่นำเงินได้ดังกล่าวไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
               2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและริบเงินค่าที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าปรับจาก การจะซื้อจะขายสิทธิในการซื้อที่ดิน ไม่ถือเป็นมูลค่าที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็น มูลค่าของฐานภาษีในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
               3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีบริษัทฯ บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและริบเงินค่าที่ดิน ดังกล่าว หากยังไม่ได้จด ทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เงินค่าที่ดินดังกล่าว ย่อมไม่ถือเป็นรายรับที่บริษัทฯ ต้องนำมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
เลขตู้: 72/36677

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020