เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5808
วันที่: 23 กรกฎาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนับอายุความการเปรียบเทียบปรับอาญา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 68 มาตรา 17 และมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย ก. ต้องการสอบถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการนับอายุความการเปรียบเทียบปรับอาญา กรณีการยื่น รายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2550 วันสุดท้ายแห่ง กำหนดเวลาการยื่นรายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 ของปี 2550 คือวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 โดยต้องการทราบว่า
          1. กรณีวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 เป็นวันหยุดราชการ เช่น วันเสาร์ วันอาทิตย์หรือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือหยุดโดยรัฐบาลเช่น กรณีเมื่อเดือนเมษายน 2552 มีเหตุการณ์ไม่สงบของบ้านเมือง ก็ให้เลื่อนไปในวันทำการ ถัดไปเป็นวันที่ 30 หรือ 31 พฤษภาคม 2551 หรือ ถ้ามีเหตุการณ์ไม่สงบดังตัวอย่างข้างต้น ก็อาจจะเป็นวันที่ 1 หรือ 2 มิถุนายน 2551
          2. ตามข้อ 1 วันที่ 29 พฤษภาคม 2551 เป็นวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาการยื่นรายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 และเป็นวันธรรมดา หรือวันทำการของทางราชการ การเริ่มนับอายุความเปรียบเทียบปรับทางอาญาจะเริ่มนับอย่างไร
          3. การสิ้นสุดของอายุความเปรียบเทียบปรับอาญา 1 ปี ซึ่งค่าปรับอาญาไม่เกิน 2,000 บาท นั้น จะสิ้นสุดในวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 หรือ 28 พฤษภาคม 2552
          หากได้ยื่นรายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 ของปี 2550 ในวันที่ 30พฤษภาคม 2552 ถือว่าหมดอายุความแล้ว ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1.บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2550 บริษัทฯ จะต้องยื่นแบบ แสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร หากเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีระยะเวลาจำนวน 29 วัน บริษัทฯ ต้องยื่นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ถ้าหากวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น เป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเป็นวันหยุดราชการเช่น วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือหยุดโดยรัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของ ระยะเวลา
          2. กรณีตาม 2. และ 3. หากผู้มีเงินได้ใดไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาและตามแบบแสดงรายการที่ อธิบดีกำหนดตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้นั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม มาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร โทษดังกล่าวมีอายุความหนึ่งปี ตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังกล่าว นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ และ ตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ การนับระยะเวลา อายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตามมาตรา 193/3 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่ง กำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นรายการ ภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2550 ในวันที่ 30พฤษภาคม 2552 จึงไม่ขาดอายุความ
เลขตู้: 72/36746

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020