เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6765
วันที่: 20 สิงหาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้จากการให้เช่าที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 569 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย ก. และนาง ว. ได้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดที่ดิน ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 นาย ก. และนาง ว. ได้ทำสัญญาให้เช่าที่ดินกับบริษัทฯ มีกำหนดระยะเวลา 20 ปี โดยนาย ก.และนาง ว. ได้นำค่าเช่า รายเดือนในปีภาษี 2546 ยื่นชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 90 และนำค่าเช่าล่วงหน้ายื่นชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 93 สำหรับปีภาษี 2547 ถึงปีภาษี 2566 ในนาม "คณะบุคคล ว. และนาย ก." (คณะบุคคลฯ)
          นาย ก. ขอทราบว่า หากนาง ว. โอนที่ดินแปลงที่ให้เช่าแก่นาย ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียงผู้เดียว และได้บอกกล่าวให้บริษัทฯ ทราบแล้ว รวมถึงการชำระค่าเช่าที่ดินให้เป็นไปตามสัญญาเช่าฉบับเดิม การนำรายได้จากค่าเช่าที่ดินเพื่อยื่นชำระภาษีหลังจากการโอนดังกล่าว จะต้องยื่นและชำระภาษีในนามคณะบุคคลฯ หรือในนาม ของนาย ก. และกรณีที่ได้ยื่นชำระภาษีไว้แล้วในนามคณะบุคคลฯ ควรปฏิบัติอย่างไร
แนววินิจฉัย          ในกรณีที่นาง ว. โอนที่ดินแปลงที่เช่าให้แก่นาย ก. ให้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียงผู้เดียว การโอนดังกล่าว ทำให้ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วย โดยสัญญาเช่าฉบับเดิมไม่ระงับสิ้นไป ตามมาตรา 569 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อนาย ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เช่าแต่ผู้เดียว คณะบุคคลฯ จึงสิ้นสภาพลง และค่าเช่าที่ได้รับภายหลังจากการโอนที่ดินแล้ว จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินของนาย ก. และนาย ก. ต้องนำค่าเช่ารายเดือนที่ได้รับภายหลังจากการรับโอนที่ดินแล้วไปยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ในนามของนาย ก. โดยให้นำ ภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด. 93 ที่ได้ชำระภาษีไว้ล่วงหน้าแล้วในนามคณะบุคคลฯ สำหรับแต่ละปีภาษีนั้น มาเครดิต ออกจากภาษีเงินได้ที่ต้องชำระในแต่ละปีได้โดยอนุโลม จนกว่าจะครบระยะเวลาการเช่า ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 แห่ง ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36804

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020