เลขที่หนังสือ | : กค 0702/6429 |
วันที่ | : 11 สิงหาคม 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการรับขนส่งพนักงาน |
ข้อกฎหมาย | : ข้อ 12/4 (2) ของกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ |
ข้อหารือ | นางสาว อ. ประกอบกิจการเป็นผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระ มีปัญหาเกี่ยวกับกรณีการประกอบกิจการรับขนส่งพนักงาน โดยมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
1. บริษัทผู้ว่าจ้างได้ตกลงว่าจ้างให้ผู้รับจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา รับส่งพนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีข้อตกลงด้วย วาจาที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยยึดถือสัญญาเดิมที่เคยตกลงกันของผู้รับจ้างรุ่นแรกๆ เมื่อปี 2546 มาเป็นแนวทางใน การปฏิบัติ ซึ่งมีเนื้อหาสาระว่า ผู้รับจ้างต้องจัดรถ ซึ่งมีทั้งรถบัส รถตู้ รถกระบะปิกอัพ พร้อมพนักงานขับรถ เพื่อบริการรับส่ง พนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้างทุกวัน เว้นวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่บริษัทผู้ว่าจ้าง กำหนดให้มีการหยุด วิ่งรับส่ง และการรับส่งพนักงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามเส้นทางที่บริษัทผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างตกลงและกำหนดเส้นทางไว้ แน่นอนแล้ว 2. บริษัทผู้ว่าจ้างกำหนดค่าจ้างตามระยะทาง โดยมิได้นำจำนวนคนโดยสารมากำหนดค่าจ้าง และกำหนดจ่ายกัน เดือนละ 2 ครั้ง คือ ทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน 3. การรับส่งพนักงานของบริษัทผู้ว่าจ้างในแต่ละวัน ผู้รับจ้างจะต้องวิ่งรถรับส่งวันละ 3 กะ ยกเว้นวันอาทิตย์หรือ วันทำงานในวันนักขัตฤกษ์ให้วิ่งรับส่งเพียง 2 กะ 4. กรณีบริษัทผู้ว่าจ้าง จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง บริษัทผู้ว่าจ้าง จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ ผู้รับจ้าง โดยระบุประเภทเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าจ้างร้อยละ 3.0 หรือค่าบริการร้อยละ 3.0 5. กรณีผู้รับจ้างมีเส้นทางเดินรถรับส่งมากกว่า 1 เส้นทาง ผู้รับจ้างจะไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถด้วยตนเอง แต่จ้างพนักงาน ขับรถมาขับให้แทนเป็นประจำ และรถยนต์ที่ใช้ในการรับส่งพนักงาน ผู้รับจ้างอาจจะมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าว นางสาว อ. จึงขอทราบว่า กรณีการประกอบกิจการรับขนส่งพนักงานดังกล่าวของผู้รับจ้าง ถือเป็นการประกอบกิจการ ให้บริการขนส่งตามสัญญารับขนหรือเป็นการประกอบกิจการรับจ้างตามสัญญารับจ้างทำของ และบริษัทผู้ว่าจ้างต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราเท่าใด | แนววินิจฉัย | กรณีผู้รับจ้างได้ตกลงด้วยวาจากับบริษัทผู้ว่าจ้าง เพื่อให้บริการรับส่งพนักงานตามวัน เวลา และเส้นทางที่กำหนดไว้ โดยรถยนต์ที่ใช้ในการให้บริการดังกล่าวยังคงอยู่ในความครอบครองของผู้รับจ้าง และไม่มีการให้บริการอื่นอีกนอกจาก การขนส่งพนักงาน เข้าลักษณะเป็นสัญญารับขนตามมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทผู้ว่าจ้าง ใน ฐานะผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4(2) ของคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 |
เลขตู้ | : 72/36786 |