เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7122
วันที่: 31 สิงหาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีรับจ้างประกอบอาหารให้โรงพยาบาล
ข้อกฎหมาย: ข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.42/2528ฯ
ข้อหารือ          บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ของโรงพยาบาลฯ เพื่อประกอบกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม โดยได้ทำสัญญารับจ้างประกอบ อาหารให้แก่โรงพยาบาลฯ และรับจ้างปรุงอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงขอทราบว่า
          1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญากับโรงพยาบาลฯ รับจ้างประกอบอาหารให้แก่ผู้ป่วย โดยบริษัทฯ ได้จัดทำใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บ ค่าอาหารของผู้ป่วยเดือนละ 2 ครั้ง คือ รอบวันที่ 1-15 และรอบวันที่ 16-31 ของทุกเดือนนั้น ถือเป็นการรับจ้างทำของหรือไม่ และ โรงพยาบาลฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
          2. กรณีโรงพยาบาลฯ สั่งอาหารสำหรับงานเลี้ยง และบริษัทฯ ได้เรียกเก็บค่าบริการจากโรงพยาบาลฯ เดือนละครั้ง โรงพยาบาลฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการจ่ายเงินได้ดังกล่าวหรือไม่
          3. กรณีโรงพยาบาลฯ สั่งอาหารและเครื่องดื่มจากบริษัทฯ เป็นกรณีพิเศษ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่ บริษัทฯ หรือไม่
          4. ในกรณีที่โรงพยาบาลฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการจ่ายเงินได้ตาม 1.- 3. บริษัทฯ มีสิทธิเรียกร้องให้โรงพยาบาลฯ จ่ายคืนภาษีส่วนที่ถูกหักและนำส่งกรมสรรพากรไว้แล้วได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขายอาหารและเครื่องดื่มในโรงพยาบาลฯ และได้ทำสัญญารับจ้างประกอบอาหารตาม 1. - 3. นั้น หากบริษัทฯ รับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มให้แก่โรงพยาบาลฯ ไม่ว่าในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้ การรับจ้าง ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการของภัตตาคาร ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 เมื่อโรงพยาบาลฯ จ่ายเงินค่าประกอบอาหารให้แก่บริษัทฯ จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด กรณีโรงพยาบาลฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากการจ่ายเงินได้ดังกล่าวโดยไม่มีหน้าที่ต้องหักตามกฎหมาย บริษัทฯ ผู้ถูกหักภาษีย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืน โดยยื่นแบบ ค.10 ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36832

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020