เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6887
วันที่: 25 สิงหาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกคืนเงินค้ำประกัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท อ. (บริษัทฯ) จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วน ส่วนประกอบ อะไหล่ เครื่องมือสำหรับรถยนต์ บริษัทฯ ซื้อที่ดินจากบริษัท ส. ผู้ประกอบกิจการพัฒนาสวนอุตสาหกรรม และได้ก่อสร้างอาคารบนที่ดินใน บริเวณสวนอุตสาหกรรม การดำเนินกิจการของบริษัทฯ จะต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต แต่ใน สวนอุตสาหกรรม ไม่มีการเดินท่อก๊าซธรรมชาติ บริษัท ส. เจ้าของพื้นที่ไม่สามารถจัดเตรียมท่อส่งก๊าซในเขตสวนอุตสาหกรรมได้ทัน เวลาที่บริษัทฯ จะเปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 บริษัทฯ จึงได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบริษัท ป. โดยทำการ เดินท่อก๊าซจากสถานีหลักมายังพื้นที่สวนอุตสาหกรรม มีอายุสัญญา 15 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขพิเศษของสัญญาเกี่ยวกับการติดตั้งและต่อเชื่อม ท่อส่งก๊าซ บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินประกันการใช้ก๊าซ (Guarantee Deposit) จำนวนเงิน 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาท) ให้กับบริษัท ป. และบริษัท ป. จะทยอยคืนเงินประกันฯ ให้แก่บริษัทฯ ในอัตรา 11 บาทต่อหนึ่งล้านบีทียูต่อปี ตามปริมาณการใช้ก๊าซของบริษัทฯ ที่ได้ทำ สัญญาไว้หรือปริมาณการใช้จริง นับแต่ปีแรกของสัญญาเป็นต้นไปจนครบ 40,000,000 บาท
          ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2551 บริษัทฯ และบริษัท ส. ได้ทำหนังสือข้อตกลงรับภาระการจ่ายเงินประกันดังกล่าวฝ่ายละ 20,000,000 บาท โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินประกันฯ ในส่วนความรับผิดชอบของบริษัท ส. ไปก่อน และจะเรียกเก็บเงินคืนภายหลัง กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินคืนในส่วนของเงินประกันฯ จากบริษัท ปตท.ฯ บริษัทฯ ต้องจ่ายคืนเงินที่ได้รับนั้นให้แก่บริษัท ส. จำนวนครึ่งหนึ่ง ของเงินที่ได้รับคืนมาแต่ละคราว จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ เรียกเก็บเงินส่วนที่บริษัทฯ จ่ายแทนบริษัท ส. จะต้องจัดทำใบแจ้งหนี้อย่างไร และจะต้องออกใบกำกับภาษีหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ซื้อที่ดินจากบริษัท ส. เพื่อใช้ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ และในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ จะต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต แต่บริษัท ส. ไม่สามารถจัดเตรียมท่อส่งก๊าซในเขตสวนอุตสาหกรรม ได้ทันเวลาที่บริษัทฯ จะเปิดดำเนินการ บริษัทฯ จึงทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบริษัท ปตท.ฯ มีอายุสัญญา 15 ปี โดยจะต้องจ่าย เงินประกันการใช้ก๊าซสำหรับระบบท่อก๊าซธรรมชาติจำนวน 40,000,000 บาท และบริษัท ปตท.ฯ จะทยอยจ่ายคืนเงินจนครบ 40,000,000 บาท ต่อมาบริษัทฯ และบริษัท ส. ได้ทำข้อตกลงร่วมกันจ่ายเงินประกันการใช้ก๊าซดังกล่าวฝ่ายละ 20,000,000 บาท และเมื่อบริษัทฯ รับคืน เงินประกันจากบริษัท ป. บริษัทฯ จะต้องคืนให้กับบริษัท ส. ครึ่งหนึ่ง เงินประกันจำนวน 20,000,000 บาท ที่บริษัทฯ จะเรียกเก็บจาก บริษัท ส. ในภายหลังเข้าลักษณะเป็นข้อตกลงร่วมมือกันในทางการค้า จึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการตาม มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแต่อย่างใด แต่ต้องนำเงิน ประกันดังกล่าวมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเมื่อบริษัทฯ จ่ายคืนเงินประกันดังกล่าวให้กับบริษัท ส. ครึ่งหนึ่ง บริษัทฯ มีสิทธินำเงินประกันที่จ่ายคืนไปถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯ ได้จ่าย ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36817

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020