เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6161
วันที่: 4 สิงหาคม 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการทำสัญญาจะซื้อจะขายและการตกแต่งอาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1 และมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับทุกชนิดฯ โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ ได้ทำ สัญญาซื้อขายที่ดินและอาคารอันเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทฯ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
          1. บริษัทฯ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารผู้จะขาย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 โดยได้ชำระค่าที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างไว้ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ในราคา 16,000,000 บาท แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำสัญญาฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2549 กับผู้จะขาย เพื่อจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารในราคา 51,000,000 บาท โดยได้ตกลงยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2548 และให้นำเงินจำนวน 16,000,000 บาท ที่ได้ชำระให้ผู้จะขายไว้แล้วมาถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่นี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ดำเนินการย้ายสถานประกอบการไปยังสถานที่ แห่งใหม่ บริษัทฯ ยังคงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งของอาคารเป็นสำนักงานใหญ่และเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ มาโดยตลอด ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำการปิดอาคารเป็นการชั่วคราว ในเดือนกรกฎาคม 2551 เพื่อดำเนินการย้ายสถานประกอบการไปยังอาคาร แต่ เนื่องจากอาคารแห่งใหม่อยู่ในระหว่างการตกแต่ง บริษัทฯ จึงไม่สามารถย้ายเข้าไปได้ทั้งหมดในทันที
          2. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 บริษัทได้ยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ ตามแบบ ภ.พ.09 โดยแจ้งย้ายสถานที่ตั้งจากสำนักงานใหญ่อาคารเลขที่ ... เป็นอาคารเลขที่ ……และกำหนดให้มีผลในวันที่ 1 กันยายน 2551
          3. บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัทออกแบบตกแต่งภายในให้ติดตั้งสาธารณูปโภคพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกแก่อาคารทั้งสองแห่ง และ ได้นำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอาคารทั้งสองตั้งแต่เดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2549 ถึงเดือนภาษีมิถุนายน 2551 มาใช้ใน การคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมขอคืนภาษีซื้อเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,325,579,000 บาท
          บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
          1. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อจากการตกแต่งอาคารเลขที่ ... และเลขที่ ... มาเครดิตภาษีซื้อหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่
          2. การที่บริษัทฯ ยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย และตกลงให้นำค่าซื้อขายที่ดินและอาคารจำนวน 16,000,000 บาท ตามสัญญาฉบับ ลงวันที่ 8 เมษายน 2548 มาเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินและอาคารตามสัญญาฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2549 ถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อของเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2549 ถึงเดือนภาษีสิงหาคม 2551 พิจารณาได้ ดังนี้
               1.1 กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าซื้อวัสดุและค่าจ้างออกแบบเพื่อตกแต่งภายในของสถานประกอบการเลขที่ ... เป็นภาษีซื้อ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการบริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการจ่ายเงินดังกล่าวไปคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทฯ ได้ยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (เลขที่ ...) เพื่อย้าย ไปยังสถานประกอบการแห่งใหม่นั้น ถือได้ว่า บริษัทฯ ได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้ว ตามความหมายแห่งมาตรา 77/1(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าวัสดุและค่าจ้างออกแบบเพื่อตกแต่งสิ่งปลูกสร้างเลขที่ …เป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้าง อาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขาย หรือให้เช่า หรือนำไปใช้ใน กิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม นำไปหักออกจากภาษีขาย ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
          
               1.2 กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าซื้อวัสดุและค่าจ้างออกแบบเพื่อตกแต่งภายในของสถานประกอบการเลขที่ ... ที่จะใช้เป็น สถานประกอบการของบริษัทฯ แห่งใหม่ซึ่งยังไม่เริ่มประกอบการและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อที่บริษัทฯ จ่ายไปดังกล่าว ถือเป็น ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ถึงแม้ใบกำกับภาษีจะระบุที่อยู่เลขที่ 58/4-5 ซึ่งเป็นสถานประกอบการเดิม ก็ตาม บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีบริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ … ฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2548 ต่อมา บริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ …. ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2549 โดยยกเลิกสัญญาฉบับเดิม และนำเงินที่ได้ชำระแล้ว มาถือเป็นค่าซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ถือได้ว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2548 ยังมิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้า หรือหากำไร และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36775

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020