เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./7081
วันที่: 28 สิงหาคม 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8)(ค) มาตรา 77/1(14) มาตรา 77/1(19) มาตรา 79/1(11) และมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2545 และได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2545 เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 และได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ทุกเดือน
          2. บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างทำตัวอักษรโลหะ โดยการส่งออกแยกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ
               2.1 กรณีที่ 1 ขายส่งออกโดยมูลค่าสินค้าในใบขนสินค้าขาออกตรงกับมูลค่าในใบกำกับภาษี (Invoice) ที่ใช้ยื่นแบบ ภ.พ. 30 และการรับชำระเงิน (เอกสาร Inv. C-0987-08-0001/SI-0987-08-0001)
               2.2 กรณีที่ 2 ขายส่งออกโดยมูลค่าสินค้าในใบขนสินค้าขาออกไม่ตรงกับมูลค่าในใบกำกับภาษี (Invoice) ที่ใช้ยื่นแบบ ภ.พ. 30 และการรับชำระเงิน (เอกสาร Inv. C-0039-08-0063/SI-0039-08-0063) เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า ตกลงมูลค่าซื้อขายจำนวน 3,357.92 เหรียญสหรัฐ (ราคา C.I.F) โดยลูกค้าแจ้งให้บริษัทฯ ส่งใบ Invoice Ship ไปจำนวนไม่เกิน 2,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีขั้นตอนการขายสินค้าดังนี้
               (1) ลูกค้ามีการส่งแบบงานมาเพื่อขอราคาจากบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้จัดทำใบเสนอราคาส่งให้กับลูกค้า
               (2) เมื่อมีการอนุมัติราคาที่บริษัทฯ ได้เสนอไป ลูกค้าจะทำการส่งอีเมล์ยืนยันการสั่งซื้อ โดยไม่ออกเอกสารแนบ หรือใบสั่งซื้อแนบมาด้วย
               (3) เมื่อได้รับการยืนยัน บริษัทฯ จะทำการผลิตสินค้าและจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า โดยในการจัดส่งสินค้า บริษัทฯ ได้ออกใบ Invoice เพื่อใช้ในการส่งสินค้าในแต่ละครั้ง ซึ่งในการออกใบ Invoice ดังกล่าวนี้ บริษัทฯ ได้ลดมูลค่าสินค้าในใบ Invoice สำหรับลูกค้าบางรายตามที่ตกลงกันไว้ โดยลูกค้าต้องชี้แจงความจำเป็นในการลดมูลค่าสินค้าในใบ Invoice ให้บริษัทฯ ทราบ ซึ่งลูกค้า ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อมูลกับบริษัทฯ ว่า หากมูลค่าของสินค้าเพื่อการส่งออกในแต่ละครั้งมีมูลค่าสูงมากกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐ สินค้าทั้งหมดจะต้องลงคลังเพื่อรอการเปิดตรวจที่กรมศุลกากรของประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน และการเปิดตรวจของกรมศุลกากรอาจทำ ให้สินค้าเกิดความชำรุดเสียหาย ขั้นตอนนี้จะทำให้บริษัทผู้รับสินค้าหรือผู้นำเข้าต้องเสียเวลาสำหรับการนำสินค้าออกจากกรมศุลกากร เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ถึง 7 วันทำการ ทำให้เกิดความเสียหายอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เนื่องจากสินค้าของบริษัทฯ เป็นป้ายอักษรโลหะ ของร้านค้าและสถาบันสำคัญต่าง ๆ ซึ่งบางแห่งจะมีกำหนดการเปิดสถานที่หรือกำหนดการในการติดตั้งป้ายนั้น ๆ ที่แน่นอน การผลิต และการนำส่งสินค้าประเภทนี้จึงมีความเร่งด่วนและเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ หากบริษัทฯ ไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามกำหนดเวลา จะสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับลูกค้าของบริษัทฯ ซึ่งอาจถึงขั้นมีการฟ้องร้อง เรียกค่าปรับ ค่าเสียหายกับการที่ป้ายนั้นไปไม่ทันเวลา ที่มีงานเปิด การขนส่งทางอากาศจึงเป็นช่องทางที่บริษัทฯ และลูกค้าเลือกใช้สำหรับการส่งออกสินค้านี้ ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า การขนส่งทางอื่นก็ตาม แต่ก็เป็นการสนับสนุนให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในประเทศของลูกค้าเองได้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการตามที่ลูกค้าร้องขอ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเกินกว่า 2,000 เหรียญสหรัฐ บริษัทฯ จะทำการลดมูลค่าสินค้าใน ใบ Invoice ให้มีจำนวนไม่เกิน 2,000 เหรียญสหรัฐ โดยยอดเงินดังกล่าวจะสอดคล้องกับราคา เอฟ.โอ.บี ของสินค้าในใบขนสินค้าขาออก ที่บริษัทฯ ทำไว้กับกรมศุลกากร
               (4) การรับชำระเงินจะเป็นตามยอดที่ตกลงกันในใบเสนอราคา และตามยอดใบ Invoice เลขที่ C-0039-08-0063 จำนวน 3,357.92 เหรียญสหรัฐ (ราคา C.I.F) ที่ใช้ในการยื่นแบบ ภ.พ.30 และเรียกรับชำระเงินจากลูกค้าซึ่งเป็นการส่งออกจริงทั้งหมด โดยพิจารณาได้จากหลักฐาน Packing List (จำนวนน้ำหนักและจำนวนหีบห่อที่เท่ากัน) และบริษัทฯ ใช้เอกสารใบ Invoice เลขที่ SI-0039-08-0063 จำนวน 2,000 เหรียญสหรัฐ ในการดำเนินพิธีการทางศุลกากรจากเอกสารใบ Invoice เลขที่ SI-0039-08-0063 และ C-0039-08-0063 ผลต่างจำนวน 1,357.92 เหรียญสหรัฐ
               2.3 บริษัทฯ จึงหารือว่า ส่วนเกินมูลค่าจากการดำเนินพิธีการส่งออก จำนวน 1,357.92 เหรียญสหรัฐ บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างผลิตตัวอักษรโลหะ โดยเมื่อบริษัทฯ ผลิตเสร็จแล้ว บริษัทฯ ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า ในต่างประเทศโดยยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าโดยส่งออกตามมาตรา 77/1(8)(ค) และ มาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัทฯ ส่งออกสินค้าเป็นเงินจำนวน 2,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคา เอฟ.โอ.บี ตามใบขนสินค้าขาออก แต่เรียกเก็บ เงินค่าสินค้า จำนวน 3,357.92 เหรียญสหรัฐ จึงมีมูลค่าส่วนเกินที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้า จำนวน 1,357.92 เหรียญสหรัฐ เนื่องจาก ในการคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าโดยการส่งออก ได้แก่ มูลค่าของสินค้าส่งออกตามราคา เอฟ.โอ.บี ของสินค้าบวก ด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่ได้กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ไม่ให้รวมอากรขาออก ซึ่ง ราคา เอฟ.โอ.บี ได้แก่ ราคาสินค้า ณ ด่านศุลกากรส่งออกโดยไม่รวมค่าประกันภัย และค่าขนส่งจากด่านศุลกากรส่งออกไปต่างประเทศ ตามมาตรา 79/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำมูลค่า ส่วนเกินที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อในต่างประเทศมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกสินค้า
เลขตู้: 72/36828

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020