เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7318
วันที่: 7 กันยายน 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(11) มาตรา 78/2(2) มาตรา 82 มาตรา 82/14 มาตรา 79 และมาตรา 80(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท B (บริษัทฯ) เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งถือหุ้นโดย (บริษัทแม่) ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรจากกรมศุลกากร โดยการประกอบกิจการ ในเขตปลอดอากรมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
          1. บริษัทฯ จะนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า MB โดยว่าจ้าง บริษัท T เป็นผู้ประกอบรถยนต์ และบริษัทฯ จะจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าวให้กับบริษัทแม่ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศต่อไป
          2. บริษัทฯ และบริษัท T ได้ขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการและผู้จัดตั้งเขตปลอดอากรจากกรมศุลกากร ซึ่งบริษัท T ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดตั้งเขตปลอดอากรแล้ว ตามใบอนุญาตเป็นผู้จัดตั้งเขตปลอดอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (แบบที่ 18) พ.ศ. 2543 ที่ 6/2552
          3. บริษัทแม่จะซื้อรถยนต์จากบริษัทฯ ไปขายต่อให้แก่ผู้จำหน่ายทั่วประเทศไทยและทำหน้าที่ในการทำตลาดใน ประเทศไทย โดยระหว่างบริษัทแม่และบริษัทฯ ไม่มีการทำสัญญาแต่งตั้งผู้จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวสำหรับการซื้อขาย รถยนต์ดังกล่าว และไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างกันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะใช้คำสั่งซื้อรถยนต์ (Purchase Order) เป็นเอกสารกำหนดข้อตกลงการซื้อขาย โดยการซื้อขายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อ รถยนต์ (Purchase Order) จากบริษัทแม่เท่านั้น
          4. การจำหน่ายและส่งมอบรถยนต์ของบริษัทฯ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
               4.1 เมื่อบริษัท T ประกอบรถยนต์เสร็จเรียบร้อยจะดำเนินการส่งมอบรถยนต์ให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะตรวจรับรถยนต์จากโรงงานประกอบและนำมาเก็บไว้ที่อาคารจอดรถชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร และในวันรุ่งขึ้น บริษัทฯ จะออกใบขนรถ ให้บริษัทขนส่งทำการขนรถจากอาคารชั่วคราวดังกล่าว ไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ นอกเขตปลอดอากร เพื่อรอคำสั่งซื้อและจำหน่ายให้แก่บริษัทแม่ต่อไป
               4.2 บริษัทแม่จะสั่งซื้อรถยนต์กับบริษัทฯ เมื่อบริษัทแม่ได้รับคำสั่งซื้อรถยนต์จากผู้แทนจำหน่าย โดยบริษัทแม่ จะทำคำสั่งซื้อ (Purchase Order) มายังบริษัทฯ และบริษัทฯ จะดำเนินการส่งมอบรถยนต์ให้บริษัทแม่พร้อมทั้งออกใบกำกับภาษี
          5. หากบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร บริษัทฯ จึง ขอทราบดังต่อไปนี้
               5.1 กรณีบริษัทฯ นำรถยนต์ออกจากเขตปลอดอากรมาเก็บไว้ในคลังสินค้านอกเขตปลอดอากร จะถือว่า บริษัทฯ นำสินค้ารถยนต์ออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออกตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในวันที่นำรถยนต์ออกจากเขต ปลอดอากร ตามมาตรา 77/2(2) และมาตรา 82(2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
               5.2 กรณีบริษัทฯ ขายรถยนต์ที่เก็บอยู่ในคลังสินค้านอกเขตปลอดอากรให้แก่บริษัทแม่ จะถือเป็นการขายสินค้า ในราชอาณาจักร บริษัทฯ จึงต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายรถยนต์ดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
               5.3 กรณีบริษัทฯ นำรถยนต์ออกจากเขตปลอดอากรมาเก็บไว้ในคลังสินค้านอกเขตปลอดอากร และยังไม่มี คำสั่งซื้อจากบริษัทแม่ บริษัทฯ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 2(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          บริษัทฯ มีภาระภาษีดังต่อไปนี้
          1. กรณีตาม 5.1 บริษัทฯ ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากรได้นำรถยนต์ออกจากเขตปลอดอากรมาเก็บไว้ในคลังสินค้า ของบริษัทฯ นอกเขตปลอดอากร โดยมิใช่เพื่อการส่งออก บริษัทฯ จึงเป็นผู้นำเข้าสินค้าซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในวันที่นำรถยนต์นั้นออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออก ทั้งนี้ ตาม มาตรา 77/1(11) มาตรา 78/2(2) มาตรา 82 และมาตรา 82/14 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีตาม 5.2 บริษัทฯ ขายรถยนต์ที่เก็บอยู่ในคลังสินค้านอกเขตปลอดอากรของบริษัทฯ ให้แก่บริษัทแม่ซึ่งอยู่นอกเขต ปลอดอากร ค่าตอบแทนจากการขายรถยนต์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับจากการขายรถยนต์มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี มูลค่าเพิ่มและต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 79 และมาตรา 80(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีตาม 5.3 บทบัญญัติตามข้อ 2(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เป็นเรื่องการกำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของ ฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติไว้เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรได้ขายสินค้า ให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน และผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่ขายเพื่อส่งมอบให้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อสินค้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีบริษัทฯ นำรถยนต์ออกจาก เขตปลอดอากรมาเก็บไว้ในคลังสินค้านอกเขตปลอดอากร และยังไม่มีคำสั่งซื้อจากบริษัทแม่ ย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทน ที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามข้อ 2(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด
เลขตู้: 72/36844

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020