เลขที่หนังสือ | : กค 0702/7859 |
วันที่ | : 21 กันยายน 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 50(2) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 137) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548
1.1 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 137)ฯ ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548 ต้องเป็นกรณีผู้มีเงินได้เงินฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปี และผู้ฝากเงินต้องมีอายุ 55 ปี ขึ้นไปใช่หรือไม่ และมีหลักเกณฑ์การนับอายุอย่างไร 1.2 กรณีผู้มีเงินได้มีบัญชีเงินฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แต่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเป็นรายเดือน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยดังกล่าวหรือไม่ 1.3 กรณีผู้มีเงินได้มีบัญชีเงินฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และมีบัญชีเงินฝากประจำหกเดือนด้วย และได้รับดอกเบี้ยเงินฝากทั้งสองบัญชีรวมกันไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวหรือไม่ 1.4 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 137)ฯ ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548 หมายถึงผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากไปรวมคำนวณภาษีเลย หรือผู้มีเงินได้ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ก่อนแล้วจึงนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีภาษีนั้น 2. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (38) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 2.1 กรณีผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารแห่งเดียวกันสองบัญชี โดยบัญชีที่หนึ่งได้รับจำนวนสี่หมื่นบาท และจากอีกบัญชีหนึ่งจำนวนสี่พันบาท จะคำนวณภาษีอย่างไร 2.2 กรณีผู้มีเงินได้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารแห่งหนึ่งจำนวนห้าหมื่นบาท และจากธนาคารอีกแห่งหนึ่งจำนวนห้าพันบาท จะคำนวณภาษีอย่างไร 3. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 หากผู้มีเงินได้ได้เปิดบัญชีเงินฝากประจำที่ฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือน เป็นจำนวนหลายธนาคารจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด หรือไม่ 4. การยกเว้นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ได้มีกฎหมายบังคับใช้แล้วหรือไม่ 5. ผู้มีเงินได้จ่ายดอกเบี้ยจากการซื้อสิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร จะสามารถนำดอกเบี้ยมาหักลดหย่อนได้หรือไม่ 6. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (2) - (8) สำหรับเงินได้พึงประเมินที่มีจำนวนไม่เกินหนึ่งล้านบาท ได้มีผลบังคับใช้แล้วหรือไม่ และในกรณีนี้หากผู้มีเงินได้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ประจำปีแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ครึ่งปีหรือไม่ | แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 1. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 137)ฯ ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548
1.1 ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว ต้องเป็นผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ โดยการนับอายุผู้มีเงินได้ครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้นับตามวัน เดือน ปี ที่ผู้ฝากเงินเกิด 1.2 กรณีธนาคารคำนวณจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้ผู้มีเงินได้เป็นรายเดือนเป็นสิทธิของธนาคารฯ ที่จะกำหนด วิธีการจ่ายดอกเบี้ยตามระเบียบของธนาคารฯ แต่ผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ 1.3 กรณีผู้มีเงินได้มีบัญชีเงินฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และมีบัญชีเงินฝากประจำหกเดือนด้วย ผู้มีเงินได้ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลา การฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ 1.4 ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หมายถึง เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด และดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝาก เงินตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปนั้นต้องได้รับนับตั้งแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 2. กรณีตาม 2. หากผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารแห่งเดียวกันสองบัญชี โดยบัญชีที่หนึ่งได้รับจำนวนสี่หมื่นบาท และจากอีกบัญชีหนึ่งจำนวนสี่พันบาท ผู้มีเงินได้มีหน้าที่เสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวโดยธนาคารฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีผู้มีเงินได้ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จากธนาคารแห่งหนึ่งจำนวนห้าหมื่นบาท ธนาคารผู้จ่ายมี หน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับจากธนาคาร อีกแห่งหนึ่งจำนวนห้าพันบาท ผู้มีเงินได้มีหน้าที่แจ้งให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 50 (2) ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 181) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 3. กรณีตาม 3. ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจาก การฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท ทั้งนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่จะได้รับ ยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้ต้องเปิดบัญชีเงินฝากขึ้นใหม่โดยเฉพาะแยก ต่างหากจากบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นี้เพียงบัญชีเดียว ทั้งนี้ ตาม พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 ประกอบกับ ข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 64) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและ ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการฝากเงินในประเทศ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ดังนั้น กรณีท่านเปิดบัญชีเงินฝากในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งบัญชีในหลายธนาคารในระหว่างที่บัญชีแรกยังไม่ครบกำหนด ท่านจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากของบัญชีใหม่ 4. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด ในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดไม่เกินสามแสนบาท ได้มีการตราเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ. 2552) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และมีผลใช้บังคับแล้ว 5. กรณีตาม 5. ผู้มีเงินได้สามารถนำเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสน บาท ซึ่งจ่ายให้แก่ 5.1 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 5.2 กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 5.3 นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วย นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวเข้ารับช่วงสิทธิ เป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวม หรือธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง 5.4 ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้างมาถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 6. กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่หกหมื่นบาทขึ้นไปซึ่งต้องคำนวณภาษีตามมาตรา 48(2) แห่งประมวล รัษฎากรนั้น ผู้มีเงินได้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะกรณีผู้มีเงินได้มีภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นจำนวนไม่เกินห้าพันบาท ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป โดยผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับสิทธิ ยกเว้นภาษีดังกล่าวยังคงมีหน้าที่คำนวณและเสียภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 480) พ.ศ. 2552 และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดง รายการตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 72/36873 |