เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.04)/1532
วันที่: 21 กรกฎาคม 2552
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ (ข้อหารือ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6 มาตรา 82/3 และมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการประเภทขายปลีก และขายส่ง เดิมสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540 และสาขารังสิต สำนักงานตั้งอยู่ จังหวัดปทุมธานี 12130 โดยที่อาคารสาขารังสิตได้ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 ใช้เป็นสถานประกอบธุรกิจการค้า
          1. บริษัทฯ ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่อาคารหลังเดียวกันกับสาขารังสิต เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 และได้ดำเนินการ จดทะเบียนแก้ไขจากที่อยู่เดิม 70/1 เป็น 70/3 โดยมีการดัดแปลงอาคารสำนักงานชั้น 2 ของสำนักงานสาขารังสิต พื้นที่ 5,514 ตารางเมตร และเพิ่มชั้นลอยพื้นที่ 1,671 ตารางเมตร โดยได้รับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารจากสำนักงานเทศบาลคูคต จังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งมีข้อเท็จจริง ดังนี้
               1.1 พื้นที่ใช้สำหรับบริหารงานการจัดซื้อสินค้าเข้าสาขาต่างๆ โดยแบ่งพื้นที่เป็นแผนกจัดซื้อสินค้าอุปโภค แผนกจัดซื้อ อาหารสด แผนกจัดซื้อสินค้าเบ็ดเตล็ด แผนกจัดซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและแผนกจัดซื้อเครื่องนอน เครื่องแต่งกาย
               1.2 พื้นที่ใช้สำหรับบริหารงานจัดหาผู้เช่าร้านค้าสำหรับสาขาต่างๆ ซึ่งตามนโยบายของบริษัทฯ มีการแบ่งสัญญาเป็น 2 ส่วน คือ
               ส่วนที่ 1 สัญญาเช่า ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
               ส่วนที่ 2 สัญญาบริการ ที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค ได้แก่ น้ำ ไฟฟ้า การทำความสะอาดซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม
               1.3 พื้นที่ส่วนอื่นๆ ได้แก่ แผนกบัญชี แผนกบุคคล ห้องประชุม ห้องอาหารสำหรับพนักงาน พื้นที่สำหรับวางเครื่องถ่าย เอกสาร เครื่องโทรสาร ห้องสุขา ห้องพยาบาล เป็นต้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใช้สำหรับกิจการที่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
          2. รายได้ของสำนักงานใหญ่ จัดเป็นรายได้อื่นๆ ของบริษัทฯ ซึ่งได้แก่ รายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบ กิจการ (บางครั้ง) บริการจัดหาสื่อโฆษณาสินค้าและบริการในสาขาต่างๆ ซึ่งตามกฎหมายให้ถือเป็นรายได้ เป็นต้น
          บริษัทฯ จึงขอหารือ ดังนี้
          1. บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารในส่วนของสำนักงานใหญ่หรือไม่
          2. กรณีที่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร สัดส่วนในการเฉลี่ยภาษีซื้อใช้พื้นที่เฉพาะในส่วนของสำนักงานใหญ่ในการคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อ ใช่หรือไม่
          3. พื้นที่ของสำนักงานใหญ่ซึ่งไม่มีการขายสินค้า จะถือเป็นพื้นที่ของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเป็นพื้นที่ของกิจการ ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
          4. กรณีพื้นที่ของสำนักงานใหญ่ไม่สามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนว่าใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือกิจการที่ได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ สามารถเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ ได้หรือไม่ หากบริษัทฯ สามารถเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ได้ บริษัทฯ ควรเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ หรือเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของสำนักงานใหญ่ หรือกรณี หากบริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของพื้นที่ ส่วนของพื้นที่ที่ใช้ในการบริหารงานจัดหาผู้เช่าร้านค้า ซึ่งมีทั้งรายได้ค่าเช่า ซึ่งเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้จากการให้บริการ ซึ่งเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าวรวมถึงพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ตามข้อ 1.3 บริษัทฯ ควรแยกพื้นที่อย่างไร
          5. พื้นที่อาคารสาขารังสิต ที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการดัดแปลงพื้นที่เพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ ซึ่งสาขารังสิตได้ก่อสร้าง อาคารแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 กรณีดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องทำการปรับปรุงภาษีซื้อในส่วนของสาขารังสิต ตามข้อ 5 (5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ใช่หรือไม่ เนื่องจากเกินกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่เดือนภาษี ที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่อาคารหลังเดียวกันกับสาขารังสิต โดยมีการดัดแปลงอาคารสำนักงานชั้น 2 ของ สำนักงานสาขารังสิต พื้นที่ 5,514 ตารางเมตร และเพิ่มชั้นลอยพื้นที่ 1,671 ตารางเมตร กรณีไม่ถือเป็นการก่อสร้างอาคารตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 แต่บริษัทฯจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ อันเกิดจากการดัดแปลงอาคาร ซื้อสินค้า หรือรับบริการที่นำมาใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ตามมาตรา82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว
          2. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ในการเฉลี่ยภาษีซื้อของบริษัทฯ ต้องปฏิบัติ ดังนี้
               2.1 ภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ที่เกิดขึ้นในส่วนของฝ่ายบริหาร และฝ่ายบัญชี ส่วนกลางซึ่งดูแลทั้งกิจการประเภทที่ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเป็นภาษีซื้อที่ไม่สามารถแยกได้ชัดแจ้งว่า เป็นของกิจการใด บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้ออันเกิดจากการดัดแปลงอาคาร ซื้อสินค้า หรือรับบริการที่นำมาใช้ในกิจการทั้งสองประเภทตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 และนำภาษีซื้อในส่วนที่เฉลี่ยได้ ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากรได้
               2.2 ภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ที่เกิดขึ้นในส่วนของฝ่ายบัญชีของกิจการ ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากสามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นภาษีซื้อของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิ นำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายได้ แต่มีสิทธินำมาลงเป็นต้นทุนหรือรายจ่ายได้ทั้งจำนวนไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
          3. กรณีบริษัทฯ ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปตั้งอยู่ ณ ที่ทำการแห่งใหม่ที่อาคารของสาขารังสิตเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ซึ่ง อาคารสาขารังสิตได้สร้างอาคารแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 นั้น บริษัทฯ ไม่ต้องทำการปรับปรุงภาษีซื้อในส่วนของสาขา รังสิตแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นการพ้นกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์แล้ว กรณีจึงไม่ต้องปฏิบัติตาม ข้อ 5(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 72/36760

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020