เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8489
วันที่: 9 ตุลาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการซื้อหุ้นจากบริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก) มาตรา 40(4)(ช) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ ในอัตราร้อยละ 18 ของหุ้นทั้งหมด บริษัทฯ มีความประสงค์จะซื้อหุ้นบริษัทไทยจากบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ตาม ราคาตลาดในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ ณ วันที่ทำการซื้อขาย ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและยุติธรรม เพราะ บริษัทฯ ต้องรายงานการซื้อขายต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ (SGX) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการซื้อขายหุ้นจำนวนมาก ประกอบกับบริษัทฯ และบริษัทผู้ขายมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน บริษัทฯ จึงขอผ่อนชำระค่าหุ้นเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย จึงได้หารือว่า
          1. กรณีบริษัทในประเทศสิงคโปร์ขายหุ้นให้แก่บริษัทฯ ในราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าหุ้นให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ที่คำนวณจากผลต่างระหว่างราคาขายหุ้น ของบริษัทในประเทศสิงคโปร์ กับราคาทุนที่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ซื้อมาหรือไม่ อย่างไร
          2. กรณีบริษัทฯ ผ่อนชำระค่าหุ้นให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ เป็นเวลา 12 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย บริษัทฯ ไม่มี หน้าที่ต้องหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
          3. กรณีบริษัทฯ ไม่ได้ผ่อนชำระภายในกำหนดเวลา บริษัทในประเทศสิงคโปร์จะคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินค้างชำระ โดยคำนวณตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศสิงคโปร์ เมื่อจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจาก ดอกเบี้ยจ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1 บริษัทในประเทศสิงคโปร์ขายหุ้นบริษัทไทย ให้บริษัทฯ ในราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา ถือได้ว่าบริษัทในประเทศสิงคโปร์มีผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้า ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าหุ้นให้บริษัทใน ประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้ขาย บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากบริษัทผู้ขายหุ้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ สิงคโปร์ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เงินได้จากการขายหุ้นดังกล่าวถือเป็นผลได้จากทุน ซึ่งตามข้อ 13 ของ อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและ การป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ กำหนดให้ประเทศที่ผู้มีเงินได้มีถิ่นที่อยู่เป็น ผู้จัดเก็บ ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด
          2. กรณีตาม 2 และ 3 บริษัทในประเทศสิงคโปร์ให้บริษัทฯ ผ่อนชำระค่าหุ้นเป็นเวลา 12 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย เมื่อบริษัทฯ ไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้บริษัทในประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีตามมาตรา 70 แห่ง ประมวลรัษฎากร แต่หากบริษัทในประเทศสิงคโปร์คิดดอกเบี้ยกรณีบริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้ค่าหุ้นที่ตกลงผ่อนชำระ ถือได้ว่าบริษัทในประเทศสิงคโปร์ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือ ในประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าดอกเบี้ยดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตรา ร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36912

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020