เลขที่หนังสือ | : กค 0702/9273 |
วันที่ | : 4 พฤศจิกายน 2552 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค่าตอบแทนจากการให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 คณะบุคคลฯ ได้ทำสัญญาจัดตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) กับบริษัทฯ โดยมีข้อตกลงสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
(1) บริษัทฯ จะจัดตั้งสถานีบริการ NGV ในที่ดินของบุคคลในคณะบุคคลฯ และคณะบุคคลฯ ตกลงรับค่าตอบแทน จากการให้บริษัทฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดิน (2) คณะบุคคลฯ ตกลงให้บริษัทฯ มีสิทธิจัดตั้งสถานีบริการ NGV และรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบ กิจการสถานีบริการ NGV ในที่ดินของบุคคลในคณะบุคคลฯ เป็นระยะเวลา 15 ปี (3) บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสถานีบริการ NGV รวมถึงอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินหรือใต้ดิน ทั้งหมดเพื่อสถานีบริการ NGV ด้วยทุนทรัพย์ของบริษัทฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว รวมถึงส่วนควบและทรัพย์สิน อุปกรณ์การจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่บริษัทฯ ได้นำไปติดตั้งไว้ในสถานีบริการ NGV นั้น ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ (4) บริษัทฯ ตกลงให้คณะบุคคลฯ เป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการ NGV ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ ตาม ข้อกำหนดการจ้างที่คู่สัญญาจะได้ดำเนินการจัดทำไว้อีกฉบับหนึ่ง แต่หากคณะบุคคลฯ ไม่ประสงค์จะเป็นผู้ดำเนินการ บริษัทฯ ยังคงสิทธิในที่ดินตามสัญญาดังกล่าวที่จะให้ผู้อื่นเข้ามาดำเนินการประกอบกิจการสถานีบริการ NGV แทน หรือบริษัทฯ จะเป็น ผู้ดำเนินการเองจนครบตามอายุแห่งสัญญา (5) บริษัทฯ ตกลงเป็นฝ่ายรับผิดชอบชำระค่าไฟฟ้าของระบบเพิ่มแรงดันก๊าซ (Compressor) และระบบจ่ายก๊าซ และจะจ่ายค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามสัญญาให้แก่คณะบุคคลฯ (6) เมื่อสัญญาจัดตั้งสถานีบริการ NGV สิ้นสุดลง บริษัทฯ และคณะบุคคลฯ ตกลงร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใน การเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและดำเนินการให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายดังกล่าวกลับคืนสู่สภาพเดิม 2. คณะบุคคลฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า คณะบุคคลฯ ได้ให้บริษัทฯ เช่าที่ดินเพื่อจัดตั้งสถานีบริการ NGV เท่านั้น โดยไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการ NGV แต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทฯ จึงใช้สิทธิตามสัญญาให้ผู้อื่นเข้ามาดำเนินการประกอบ กิจการสถานีบริการ NGV แทน ซึ่งบริษัทฯ ได้จ้างคณะบุคคล พ. เข้ามาดำเนินการ 3. กรณีคณะบุคคลฯ ได้รับเงินค่าตอบแทนการให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทใด และต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ | แนววินิจฉัย | กรณีคณะบุคคลฯ ตกลงให้บริษัทฯ ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ NGV พร้อมทั้งให้บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการ NGV ในที่ดินของคณะบุคคลฯ เป็นระยะเวลา 15 ปี โดยได้ส่งมอบที่ดินและตกลงให้บริษัทฯ เป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างรวมถึงส่วนควบ และทรัพย์สินอุปกรณ์การจำหน่ายก๊าซธรรมชาติต่างๆ และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง บริษัทฯ จะต้องเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและดำเนินการให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายดังกล่าวกลับคืน สู่สภาพเดิม ซึ่งบริษัทฯ ตกลงจ่ายค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามสัญญาให้แก่คณะบุคคลฯ ในอัตราร้อยละ 1.25 ของ ยอดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติในแต่ละเดือนนั้น หากการทำสัญญาจัดตั้งสถานีบริการ NGV ดังกล่าว คณะบุคคลฯ มีเจตนาจะให้ บริษัทฯ ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะดำเนินการสถานีบริการ NGV แต่อย่างใด การตีความการแสดงเจตนา จึงย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตามมาตรา 171 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น สัญญาจัดตั้งสถานีบริการ NGV ระหว่างคณะบุคคลฯ กับบริษัทฯ จึงถือว่า เข้าลักษณะเป็นสัญญาให้เช่าทรัพย์ตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากคณะบุคคลฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าได้ตกลงให้บริษัทฯ ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ ในทรัพย์สิน และบริษัทฯ ตกลงให้ค่าตอบแทนเพื่อการได้เช่าทรัพย์สินนั้น เงินค่าตอบแทนที่คณะบุคคลฯ ได้รับจากบริษัทฯ จึงเข้า ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่คณะบุคคลฯ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่าย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และ การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร คณะบุคคลฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 72/36974 |