เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9340
วันที่: 11 พฤศจิกายน 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) 48(1) และมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          กรณีผู้มีเงินได้มีเงินได้พึงประเมินที่ได้รับมาตั้งแต่ 60,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งเป็นเงินได้ที่ยังไม่ได้ หักลดหย่อนใด ๆ ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 0.5 ทั้งที่ในตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระบุว่าเงินได้ สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี จึงขอทราบวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย          การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นกฎหมายกำหนดวิธีคำนวณไว้ 2 วิธี ดังนี้
          1. เงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษีเมื่อผู้มีเงินได้ได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 47 หรือมาตรา 57 เบญจ แล้วเหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ ต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาท ขึ้นไปตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ ผู้มีเงินได้ต้องคำนวณภาษี ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร เทียบกับร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ที่ได้รับมาในระหว่างปีภาษีและให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีไม่น้อยกว่า ร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร การนับจำนวนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่รวมถึงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 72/36974

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020