เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/10391
วันที่: 21 ธันวาคม 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีเจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บภาษีอากรจากการ โอนอสังหาริมทรัพย์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ข้อกฎหมาย: -
ข้อหารือ          1. กรณีสำนักงานที่ดินฯ มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย แต่เรียกเก็บไว้ขาดไป สำนักงานที่ดินมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วนหรือไม่
          2. กรณีสำนักงานที่ดินฯ เรียกเก็บภาษีอากรไว้คลาดเคลื่อนนั้น หากผู้เสียภาษีต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม สามารถขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนได้หรือไม่
          3. กรณีสำนักงานที่ดินฯ เรียกเก็บภาษีอากรไว้ขาดไป และผู้เสียภาษีไม่ยินยอมชำระภาษีอากรเพิ่มเติม เจ้าพนักงานประเมินจะต้องดำเนินการอย่างไร ต้องใช้แบบใดในการประเมินภาษี และต้องดำเนินการเปรียบเทียบปรับสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีสำนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่มี การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไว้คลาดเคลื่อนมี 3 กรณี ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เรียกเก็บไว้ทั้งขาดและเกิน
          2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ เรียกเก็บไว้เกินไป
          3. อากรแสตมป์ เรียกเก็บไว้ขาดไป
ซึ่งกรณีดังกล่าว กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้
          1. ในกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินฯ ได้รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และค่าอากรแสตมป์ไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้อง หน้าที่ในการติดตามจัดเก็บภาษีอากรดังกล่าว เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ สังกัดกรมสรรพากรที่จะทำการประเมินหรือสั่งเรียกเก็บเพิ่มเติมตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะต้องดำเนินการดังนี้
               1.1 กรณีรับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายขาดไป เจ้าพนักงานประเมินจะต้องเรียกเก็บภาษีจำนวนที่หัก นำส่งขาดไปพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
                    1.1.1 ให้เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจากผู้จ่ายเงินก่อน เนื่องจากผู้จ่ายเงินต้อง รับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร
                    1.1.2 หากเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บจากผู้จ่ายเงินไม่ได้ ให้เรียกเก็บจากผู้มีเงินได้ ซึ่งหากผู้มี เงินได้ยินยอมชำระภาษีดังกล่าว ก็ให้รับชำระโดยแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 แล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้มีเงินได้ไม่ยินยอมชำระภาษีนั้น ให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการดังนี้
                    (ก) กรณีก่อนกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ให้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจ ประเมินภาษีตามมาตรา 18 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
                    (ข) กรณีพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ให้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ออกหมายเรียกผู้มีเงินได้ มาทำการตรวจสอบไต่สวนและทำการประเมินต่อไป
               1.2 กรณีรับชำระค่าอากรแสตมป์ขาดไป ให้เจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ประเมินเรียกเก็บอากรแสตมป์ เพิ่มเติมจากผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 114(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
               1.3 การประเมินภาษีอากรตาม 1.1 และ 1.2 ข้างต้น ให้ประเมินได้ภายใน 10 ปี ตามมาตรา 193/31 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          อย่างไรก็ดี กรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และเรียกเก็บอากรแสตมป์ไว้ในขณะที่มีการจดทะเบียน สิทธิและนิติกรรมไม่ครบถ้วนถูกต้อง โดยที่ไม่ใช่ความผิดของผู้มีเงินได้ และเป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มนั้น ผู้มีเงินได้ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการหรือกำหนดเวลาการเสียภาษีตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไว้เกินกว่าจำนวนที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีควรต้องเสียหรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียนั้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ตามมาตรา 27 ตรี หรือมาตรา 63 หรือมาตรา 91/11 แห่งประมวลรัษฎากร ของแต่ละประเภทภาษี
เลขตู้: 72/37050

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020