เลขที่หนังสือ | : กค 0702/10398 |
วันที่ | : 21 ธันวาคม 2552 |
เรื่อง | : ภาระภาษี กรณีการโอนกิจการทั้งหมดตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาระภาษี กรณีการโอนกิจการทั้งหมดตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร มีข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้
1. บริษัทฯ ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ถือหุ้นร้อยละ 52.68 ในบริษัท ร. (BTS) ซึ่งประกอบกิจการขนส่ง และมิได้ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหุ้นที่ถืออยู่ดังกล่าว บริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อหลายครั้งเป็นจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 8,365,800,000,000 หุ้น และมีราคาเฉลี่ยประมาณ 1.10 บาทต่อหุ้น (กิจการทั้งหมด) 2. บริษัทฯ มีความประสงค์จะโอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ผู้รับโอน) โดยมีขั้นตอนดังนี้ 2.1 บริษัทฯ และผู้รับโอน จะเข้าทำสัญญาการโอนกิจการทั้งหมด โดยบริษัทฯ จะโอนกิจการซึ่งได้แก่หุ้นทั้งหมด ให้แก่ผู้รับโอน แลกกับหุ้นออกใหม่ของผู้รับโอนที่ราคาประมาณ 2 ถึง 3 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระให้ความเห็น ตามระเบียบของคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2.2 ในวันเดียวกันภายหลังจากที่ได้ดำเนินการตาม 2.1 แล้ว บริษัทฯ จะจดมติพิเศษเพื่อเลิกกิจการกับกระทรวงพาณิชย์ 2.3 หลังจากนั้น บริษัทฯ จะส่งมอบหุ้นออกใหม่ของผู้รับโอน ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในขั้นตอนการคืนทุนตาม มาตรา 1269 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะเริ่มดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในวันเดียวกัน อย่างไรก็ดี การโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว อาจมีขั้นตอนทางทะเบียนซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 4 วัน นับแต่วันที่ บริษัทเริ่มดำเนินการ จึงจะแล้วเสร็จ 2.4 บริษัทฯ และผู้รับโอน จะทำการยื่นแบบ ค.อ.1 ถึง ค.อ.4 ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามประกาศอธิบดี กรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 บริษัทฯ ได้หารือว่า เนื่องจากการโอนกิจการดังกล่าว เป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยบริษัทฯ เลิกประกอบกิจการ และทำการชำระบัญชีเพื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการ ดังนั้น บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีอากร ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ถูกต้องหรือไม่ | แนววินิจฉัย | เนื่องจากบริษัทฯ ได้โอนกิจการทั้งหมดให้ผู้รับโอน โดยบริษัทฯ เลิกประกอบกิจการและทำการชำระบัญชีเพื่อจดทะเบียน เลิกบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการ ดังนั้น บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีอากร ดังนี้
1. ในส่วนของบริษัทฯ 1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องตีราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือราคาดังกล่าว เป็นรายได้หรือ รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ และให้ผู้รับโอนถือเอาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ปรากฏในบัญชีเพื่อประโยชน์ในการคำนวณ กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป แม้ว่าผู้รับโอนจะออกหุ้นใหม่ในราคา 2 ถึง 3 บาท โดยประมาณ ให้แก่บริษัทฯ ก็ตาม ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร 1.2 อากรแสตมป์ บริษัทฯ ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์จากการกระทำตราสารการโอนหุ้นอันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ ผู้รับโอน และในการโอนหุ้นของผู้รับโอนให้แก่ผู้ถือหุ้นในขั้นตอนการชำระบัญชีของบริษัทฯ ตามมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 2. ในส่วนของผู้ถือหุ้น เนื่องจากมูลค่าหุ้นของผู้รับโอนที่ผู้ถือหุ้นได้รับในขั้นตอนการชำระบัญชีของบริษัทฯ เกินกว่าเงินลงทุนในบริษัทฯ ดังนั้น ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการคืนทุนในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนดังกล่าว เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 และ ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 อนึ่ง การยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว ใช้เฉพาะกับผลประโยชน์จากการคืนทุนในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ซึ่ง เกี่ยวข้องกับการโอนกิจการทั้งหมดเท่านั้น |
เลขตู้ | : 72/37056 |