เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/761
วันที่: 28 มกราคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีปรับปรุงถนนส่วนบุคคลทางเข้าออกสถานประกอบการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 65 ตรี (5)(13) มาตรา 82/5 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 17)ฯ
ข้อหารือ          บริษัทฯ จะปรับปรุงถนนซอยรวมทุนไทย (ซอยสุขสวัสดิ์ 51/1) ซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคลทางเข้าออกของบริษัทฯ ได้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ดังนี้
          1. บริษัทฯ ตั้งอยู่เลขที่ 157/1 หมู่ที่ 2 ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการให้บริการเก็บรักษาขนถ่ายผลิตภัณฑ์อันมิใช่กิจการคลังสินค้า ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจาก บริษัท ตรีเพชรภัณฑ์ จำกัด ตามสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2545 มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 ซึ่งบริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารสถานประกอบการและส่วนหนึ่งเป็นถนนซอยรวมทุนไทย (ซอยสุขสวัสดิ์ 51/1) ทางเข้าออก สู่ถนนสุขสวัสดิ์ ซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคล เนื่องจากมีสภาพทรุดโทรมเสียหายมาก และมีน้ำท่วม
          2. ที่ดินที่ใช้ในการปรับปรุงถนนส่วนบุคคลเข้าซอยดังกล่าวนั้น พื้นที่ครึ่งหนึ่งของความกว้างของถนน เป็นที่ดิน ที่บริษัทฯ เช่าจากบริษัท ตรีเพชรภัณฑ์ฯ ส่วนพื้นที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นที่ดินของบุคคลอื่น และบริษัทฯ จะปรับปรุงถนนส่วนบุคคล ในซอยดังกล่าวตั้งแต่ถนนสุขสวัสดิ์จนถึงประตูทางเข้าของบริษัทฯ ความยาวประมาณ 180 เมตร โดยมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ปรับปรุงถนนทั้งหมดมีราคาประมาณ 6,000,000 บาท ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงถนนทั้งหมด
          บริษัทฯ ขอหารือว่า
          1. ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงถนนในส่วนที่สร้างบนที่ดินที่บริษัทฯ เช่า ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน โดยบันทึกเป็น สินทรัพย์ซึ่งเสื่อมสภาพได้ และตัดจ่ายภายใน 5 ปี ค่าตัดจ่ายในแต่ละปีสามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษี ส่วนค่าใช้จ่ายใน การปรับปรุงถนนในส่วนที่สร้างบนที่ดินของผู้อื่นถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซึ่งสามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีทั้งจำนวน ถูกต้องหรือไม่
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงถนนทั้งหมด บริษัทฯ สามารถ นำมาใช้เป็นภาษีซื้อและขอคืนจาก กรมสรรพากรได้ทั้งจำนวน ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ปรับปรุงถนนส่วนบุคคลในซอยทางเข้าออกบนที่ดินที่บริษัทฯ เช่า เป็นการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ถือเป็น รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ก่อให้เกิดประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธินำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ส่วนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงถนนบนที่ดินของบุคคลอื่นเป็นรายจ่าย ซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ เป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของภาษีซื้อที่เกิดจากการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่เช่า เป็นรายจ่ายโดยที่เกี่ยวข้อง โดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงถนนบนที่ดินของบุคคลอื่น ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อจากรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ จึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เลขตู้: 73/37115

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020