เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1789
วันที่: 5 มีนาคม 2553
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบการขอเครดิตภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(18) มาตรา 89(4) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เดือนภาษีตุลาคม 2551 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 แสดงยอดซื้อเป็นจำนวน เงิน 212,203.12 บาท ภาษีซื้อเป็นจำนวนเงิน 14,854.22 บาท มีภาษีชำระไว้เกินและขอยกไปใช้ในเดือนถัดไปเป็นจำนวนเงิน 14,854.22 บาท จากการคัดค้นข้อมูลระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มพบว่า บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 โดย มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 มีนาคม 2552 ชี้แจงว่ามิได้มีเจตนากระทำความผิดและบริษัทฯไม่ได้ ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 อีกต่อไปแล้ว
แนววินิจฉัย          1. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการจด ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ถูก ผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บ บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิขอคืนหรือนำไป เครดิตออกจากภาษีขายได้ เนื่องจากไม่เข้าลักษณะ เป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18) แห่งประมวลรัษฎากร การที่บริษัทฯ แสดงรายการใน แบบ ภ.พ.30 เดือนภาษีตุลาคม 2551 โดยแสดงรายการจำนวนภาษีซื้อไว้และขอนำภาษีที่ชำระไว้เกินดังกล่าวไปใช้ในเดือนภาษีถัดไป จึง เป็นกรณียื่นแบบแสดง รายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ต้องเสียเบี้ยปรับ อีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป ตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม ตาม มาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
          2. กรณีเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ บริษัทฯ จะต้องรับผิด ตาม 1. อาจพิจารณางดหรือลดได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์ การงดหรือลดเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มและ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่ง ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.121/2545 เรื่อง มอบหมายให้สั่งและดำเนินการ เกี่ยวกับการพิจารณา งดหรือลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2545
เลขตู้: 73/37176

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020