เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2018
วันที่: 17 มีนาคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการร่วมค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 4 มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551
ข้อหารือ          กรณีกิจการร่วมค้าฯ คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากกิจการร่วมค้าฯ คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้อัตราลดภาษี ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2548 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ เห็นว่า กิจการร่วมค้าฯ ถือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และมีเงินลงทุนไม่เกิน 5,000,000 บาท ถือเป็นกิจการขนาดย่อม (SMEs) จึงมีสิทธิลดอัตราภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ จึงขอทราบว่า กิจการร่วมค้าฯ มีสิทธิใช้สิทธิประโยชน์ในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2548 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1.กรณีกิจการร่วมค้าฯ ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เข้าลักษณะเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในฐานะเป็นหน่วยภาษีเช่นเดียวกับนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย กิจการร่วมค้าฯ ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ในนามกิจการร่วมค้าฯ
          2. กรณีตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า
          "...
          มาตรา 4 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท
               (1) ร้อยละสิบห้าของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท
               (2) ร้อยละยี่สิบห้าของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท แต่ไม่เกินสามล้านบาท
               มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลดังกล่าว เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท
               ...."
               ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว นั้น หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น
               ดังนั้น กรณีตาม 1. และ 2. กิจการร่วมค้าฯ ซึ่งไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่อย่างใด
เลขตู้: 73/37203

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020