เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2464
วันที่: 31 มีนาคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีขายที่ดินหลายแปลงในคราวเดียวกัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) มาตรา 48(4) มาตรา 49 ทวิ และมาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          ลูกค้าของบริษัท A จำกัด (บริษัทฯ) ไม่เคยมีอาชีพประกอบ กิจการค้าอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด ได้ซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลง ซึ่งเป็นที่ดินที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2513 มีวัตถุ ประสงค์เพื่อแบ่งให้ลูกๆ หลายคน ต่อมาบริษัท ก. สนใจซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลงดังกล่าวในสภาพเดิม ตามที่ซื้อมา โดยกำหนดระยะเวลา โอนที่ดินในปี 2553 ลูกค้าของบริษัทฯ ได้ไปพบเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อขอทราบรายละเอียดว่าจะต้องเสียภาษีอากรอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน แจ้งว่ากรณีดังกล่าวได้รับ ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากถือครองที่ดินเกิน 5 ปี ส่วนเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้น จะต้อง คำนวณภาษี เงินได้เป็นแปลงๆ ไป โดยไม่ต้องนำราคาขายของทั้ง 3 แปลง มารวมคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทาง ในการเสียภาษี ให้ถูกต้องบริษัทฯ ขอหารือว่า
          1. การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะต้องคำนวณแยก เป็นรายแปลงนั้น ถูกต้องหรือไม่
          2. หากผู้ขายไม่ประสงค์จะขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ ถูกหักไว้แล้วทั้งจำนวน ประกอบกับการขายที่ดินดังกล่าวมิได้ เป็นการมุ่งค้าหรือหากำไร ในตอนสิ้นปีจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้จาก การขายที่ดินมารวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นๆ ตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้ถือราคาประเมินทุน ทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนอสังหาริม ทรัพย์แต่ละรายเป็นรายแปลงหรือรายโฉนด เป็นฐาน ในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามมาตรา 49 ทวิ และมาตรา 50(5) แห่ง ประมวลรัษฎากร
          2. จากข้อเท็จจริงลูกค้าของบริษัทฯ ได้ซื้อที่ดินจำนวน 3 แปลง ซึ่งเป็นที่ดินที่มีพื้นที่ติดต่อกันเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2513 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งให้กับลูกๆ หลายคน หากนายอนันต์ฯ ตกลง ขายที่ดินทั้งหมดให้กับบริษัท ก. ในปี 2553 โดยมิได้นำ มาพัฒนาหรือแบ่งแยกใดๆ และขายไปในสภาพเดิมนั้น เข้าลักษณะเป็นการ ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือ หากำไร เงินได้ที่นายอนันต์ฯ ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร เมื่อมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนแล้ว มีสิทธิ เลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น ตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 73/37238

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020