เลขที่หนังสือ | : กค 0702/3659 |
วันที่ | : 1 มิถุนายน 2553 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ่ายเงินลงทุนคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนจากการลดหน่วยลงทุนของกองทุนรวม |
ข้อกฎหมาย | : กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (32) |
ข้อหารือ | กรณีการจ่ายเงินลงทุนคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนจากการลดหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ไม่เป็นเงินได้จากการขายหน่วยลงทุน ในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(32) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยมีข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้
1. กองทุนรวมตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้อนุมัติให้จัดตั้ง และจัดการมี 2 ประเภท คือ 1.1 กองทุนปิด เป็นกองทุนแบบที่กำหนดจำนวนหน่วยลงทุนที่แน่นอน โดยผู้ถือหน่วยลงทุนไม่สามารถไถ่ถอนคืน (ขายคืน) ได้ก่อนสิ้นสุดอายุของกองทุน 1.2 กองทุนเปิด เป็นกองทุนประเภทที่ไม่มีการกำหนดขนาดของกองทุนที่แน่นอน ขนาดของกองทุนสามารถขยาย หรือลดลงได้ตลอดเวลา โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายหน่วยลงทุนคืนได้ตามวันและเวลาที่บริษัทจัดการกำหนดไว้ 2. เงินได้หรือผลประโยชน์ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากกองทุนรวมมี 2 รูปแบบ คือ 2.1 เงินปันผล (dividend) สำหรับกองทุนรวมซึ่งมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลและได้ประกาศจ่ายเงินปันผล 2.2 กำไรจากการลงทุน (capital gains) ที่เกิดจากการขายคืนหน่วยลงทุน กรณีเป็นกองทุนเปิดซึ่งมีทั้งแบบที่ผู้ลงทุน แสดงเจตนาเป็นคราวๆ หรือเป็นแบบอัตโนมัติตามที่ได้กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนเปิดนั้นๆ ส่วนกองทุนปิดผู้ลงทุนจะไม่ สามารถไถ่ถอนคืน (ขายคืน) หน่วยลงทุนได้ก่อนสิ้นอายุของกองทุนปิด ตามลักษณะที่กล่าวแล้วในข้อ 1.1 ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกองทุนปิดดำเนินการลดเงินทุนโดยการลดมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนหรือลดจำนวนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ทั้งนี้ ถ้าเป็นการลดจำนวนหน่วยลงทุนผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินลงทุน พร้อมด้วยผลประโยชน์ (ถ้ามี) เหมือนกับการขายคืนหน่วยลงทุนเช่นในกรณีกองทุนเปิด และ/หรือ เกิดจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืน ซึ่งเท่ากับการขายคืน เมื่อสิ้นสุดอายุโครงการจัดการ หรือเมื่อต้องเลิกโครงการตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในโครงการ หรือตามข้อกำหนด หรือคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งในกรณีกองทุนปิดและกองทุนเปิด 3. ธุรกรรม "การขายคืน" "การลดเงินทุนโดยการลดจำนวนหน่วยลงทุน" และ "การไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืน" เป็นการดำเนิน ธุรกรรมในลักษณะเช่นเดียวกันสำหรับกิจการประเภทการจัดการกองทุนรวม แต่เรียกต่างกันก็ด้วยข้อกำหนดตามประเภทของ กองทุนและเวลาในการทำธุรกรรมตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น การจ่ายเงินลงทุนคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนจากการดำเนินธุรกรรม "การลดเงินทุนโดยการลดจำนวนหน่วยลงทุน" หรือ "การไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืน" ของกองทุนรวมนั้นเป็นเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วย หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามข้อ 2(32) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ เช่นเดียวกัน | แนววินิจฉัย | 1. ตามข้อ 2(32) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นการยกเว้นเงินได้ที่ เป็นกำไรจากการลงทุน (capital gains) จากการขายหรือโอนหน่วยลงทุนในส่วนที่เกินเงินลงทุน
2. การจ่ายเงินลงทุนคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนจากการลดหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามข้อเท็จจริง ไม่เข้าลักษณะเงินได้ ที่เป็นกำไรจากการลงทุน จึงไม่เป็นเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(32) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ กค 0706/2604 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2548 ถูกต้องแล้ว |
เลขตู้ | : 73/37305 |