เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5561
วันที่: 22 กรกฎาคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการผลิตเครื่องจับยึดชุดโลหะ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ปั๊มชิ้นส่วนรถยนต์ และรับจ้างจุ่มสีชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัทฯ ได้จ่ายค่าจ้างผลิตอุปกรณ์ที่ใช้จับยึดชิ้นงานให้กับบริษัท ว. แต่ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยชี้แจงว่าบริษัท ว. จะผลิตตามคำสั่งและแบบของลูกค้า ลูกค้าให้ผลิตอุปกรณ์จับยึดชุดโลหะตามแบบที่ลูกค้ากำหนด หรือแบบที่ผู้ผลิตเป็นผู้ออกแบบให้ โดยในการผลิตจะใช้วัตถุดิบของ ผู้ผลิต กรณีดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่
แนววินิจฉัย          การพิจารณาข้อตกลงทางการค้าว่า เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือการจ้างทำของจะต้องพิจารณาตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาว่าคู่สัญญามุ่งที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือมุ่งถึงการทำงานและผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า การประกอบกิจการของบริษัท ว. จะผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้าเท่านั้นโดยไม่มีการวางจำหน่ายเป็นการทั่วไปไม่ว่าจะใช้วัตถุดิบของบริษัท ว. หรือของผู้ว่าจ้างก็ตามและไม่สามารถผลิตแม่พิมพ์ที่จับยึดชิ้นงานตามแบบของลูกค้ารายหนึ่งไปจำหน่ายให้กับลูกค้าอีกรายหนึ่งได้ เนื่องจากเป็นความลับทางการค้าของลูกค้ารายนั้นๆ จึงเป็นการมุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำ ถือเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัท ว. ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 73/37426

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020