เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./4939 |
วันที่ | : 7 กรกฎาคม 2553 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่ง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81(1)(ณ) มาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งยานพาหนะ อะไหล่ และวัสดุของยานพาหนะ บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อ
วันที่ 3 มกราคม 2550 ระบุประเภทกิจการให้บริการตรวจสอบและจัดการรถยนต์ใหม่ก่อนการส่งมอบ รวมถึงการจัดทำประวัติ รถยนต์ใหม่
การตรวจตำหนิ และการจัดการจัดสรรคัดแยกรถยนต์ให้พร้อมแก่การขนส่ง สท. ได้ดำเนินการตรวจปฏิบัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีราย
ละเอียดดังนี้
1.1 ในระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 บริษัทฯ ได้ขายรถเทรลเลอร์ที่ใช้ในกิจการขนส่ง ยานพาหนะ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยในการซื้อรถเทรลเลอร์มาใช้ในกิจการ บริษัทฯ ไม่ได้นำภาษีซื้อมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ได้นำรถเทรลเลอร์ดังกล่าวไปใช้ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดัง นั้น การขายรถเทรลเลอร์ดังกล่าวจึงไม่ได้นำยอดขายมารวมคำนวณเป็นยอดขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนที่ได้มีการขายรถเทรลเลอร์ 1.2 บริษัทฯ ได้ซื้อรถยนต์ทดลองประกอบซึ่งไม่สามารถขายได้โดยสมบูรณ์ มีตราอักษร TOYOTA จำนวนหลายรุ่น จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัท โตโยต้าฯ) เพื่อใช้เป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการฝึกอบรมพนักงานขับรถใน กิจการอบรมการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่งรถ ซึ่งได้มีการบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ขายกับบริษัทฯ สรุปได้ว่า "ขายรถทดลองประกอบ กับรถที่ไม่สามารถขายได้โดยสมบูรณ์ (รถยนต์) ในราคาพิเศษ ซึ่งรถยนต์ดังกล่าว หากนำไปใช้ภายนอกหรือนำไปขายให้แก่บุคคลที่สาม อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของผู้ขายได้ โดยการซื้อรถยนต์มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกิจการภายในของบริษัทฯ เท่านั้น และบริษัทฯ ตกลงจะ ไม่นำรถยนต์ไปจดทะเบียน หรือจำหน่าย จ่ายโอนให้แก่บุคคลภายนอกไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น บริษัทฯ จะต้องทำลายรถยนต์ดังกล่าวทันทีที่ รถยนต์ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป" และตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ จะไม่นำรถยนต์ดังกล่าวไปขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งต่อกรมการขน ส่งทางบก โดยใช้รถยนต์เฉพาะภายในบริเวณศูนย์ฝึกอบรม บริษัทฯ จึงนำภาษีซื้อที่เกิดจาก ค่าซื้อรถยนต์ ค่าซ่อมแซม และรายจ่ายอื่นที่ เกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าว รวมทั้งภาษีซื้อหักออกจากภาษีขายของกิจการในการยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีบริษัทฯ ได้ขายรถเทรลเลอร์ที่ใช้ในการประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่า
เพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ไม่ได้นำรถเทรลเลอร์ไปใช้ในกิจการอื่นใดนอกจากการให้บริการขนส่งสินค้า
เมื่อมีการขายรถดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อแต่อย่างใด
2. กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อรถยนต์ตราอักษร TOYOTA จำนวนหลายรุ่น ได้แก่ WISH, YARIS, SOLUNA, COROLLA เป็นต้น เพื่อ ใช้ในกิจการฝึกอบรมที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมมีข้อตกลงกับบริษัท โตโยต้าฯ ผู้ขาย สรุปได้ว่า "จะไม่นำรถยนต์ที่ซื้อมา ไปจดทะเบียน หรือจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคลภายนอกไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น และจะต้องทำลายรถยนต์ดังกล่าวทันทีที่ไม่สามารถใช้ งานได้อีกต่อไป หากฝ่าฝืนผู้ขายมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามสมควร" และตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต พ.ศ. 2527 ให้ความหมาย "รถยนต์นั่ง" ว่า "รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และ ให้หมายความรวมถึงรถ ยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้าง และหรือด้านหลังคนขับมีประตู หรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด" เมื่อพิจารณาจากใบกำกับภาษีลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 พบว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ระบุ รายการสินค้าที่เป็นรถยนต์ที่มีเลขตัวรถและเลขเครื่องยนต์ครบถ้วน ซึ่งบางรายการจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ชุดแต่งรถ (สเกิร์ต, TVSS, DVD, NAVIGATOR) ประกอบกับสำเนาภาพถ่ายรถยนต์ที่ใช้สำหรับ การฝึกสอน มีสภาพเป็นรถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อ เดียวกันในลักษณะถาวร โดยด้านข้างและด้านหลังคนขับมีประตูอันเข้าลักษณะเป็นรถยนต์นั่งตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว แม้ว่ารถ ยนต์ดังกล่าว บริษัทฯ จะไม่นำไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ขาย ก็ไม่เป็นเหตุให้รถยนต์ดังกล่าวมีสภาพ หรือมีข้อห้ามตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของทางราชการที่จะนำไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกไม่ได้ หรือทำให้รถยนต์ดังกล่าว มิใช่รถยนต์นั่งตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ดังนั้น รถยนต์นั่งที่บริษัทฯ ได้ซื้อมาเพื่อใช้ในการฝึกอบรมดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นรถยนต์นั่งตาม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์รวมถึงภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ สินค้าหรือการรับบริการ ที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่งดังกล่าว บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 |
เลขตู้ | : 73/37398 |