เมนูปิด


กฎกระทรวง
ฉบับที่ 277 (พ.ศ. 2553)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
___________

                         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

                         ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (36) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 195 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                “(36) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังต่อไปนี้
                                (ก) เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับ เนื่องจากลูกจ้างออกจากงานเพราะตายทุพพลภาพหรือเกษียณอายุตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น
                                (ข) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากลูกจ้างออกจากงานในกรณีอื่นนอกจาก (ก) แต่เมื่อออกจากงานแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรือครบกำหนดเวลาเกษียณอายุตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น
                                ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด”

                         ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (44) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 208 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                “(44) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ดังต่อไปนี้
                                (ก) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับ เนื่องจากสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการออกจากราชการเพราะตาย เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือเหตุสูงอายุ
                                (ข) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เนื่องจากสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการออกจากราชการในกรณีอื่นนอกจาก (ก) แต่เมื่อออกจากราชการแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากสมาชิกผู้นั้นตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์
                                ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด”

                         ข้อ 3 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

กรณ์ จาติกวณิช
(นายกรณ์ จาติกวณิช)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้สิทธิแก่สมาชิกเพิ่มมากขึ้น โดยสมาชิกสามารถทยอยรับเงินเป็นงวดหลังสิ้นสมาชิกภาพ สมควรปรับปรุงประเภทของเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และให้ครอบคลุมถึงสิทธิที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนทั้งสองฉบับดังกล่าว อันจะเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อใช้ในยามชราภาพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

                         (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 127 ตอนที่ 63 ก วันที่ 13 ตุลาคม 2553)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022