เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5531
วันที่: 22 กรกฎาคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินค่าเช่ารับล่วงหน้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานคร มีบริษัทในเครือซึ่งจดทะเบียนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 สองบริษัทคือ บริษัท พ. และบริษัท ว. จำกัด (บริษัทในเครือฯ) โดยบริษัทในเครือฯ จะเช่าที่ดินของบริษัทฯ เป็นระยะเวลา 103 ปี เพื่อพัฒนาโครงการก่อสร้างอาคารแบบผสมผสาน โดยมี ข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. การก่อสร้างอาคารแบบผสมผสาน บริษัทในเครือฯ จะแบ่งการใช้อาคารออกเป็นสองส่วนโดยส่วนที่ 1 เป็นห้องชุด ที่อยู่อาศัย ส่วนที่ 2 เป็นกิจการโรงแรม ซึ่งในการประกอบกิจการตามส่วนที่ 1 นั้น บริษัทในเครือฯ จะทำสัญญาให้เช่าเพื่อ อยู่อาศัยแก่ผู้เช่ามีกำหนดระยะเวลารวมทั้งหมด 99 ปี โดยแบ่งระยะเวลาตามสัญญาเช่าออกเป็น 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 - 3 ครั้งละ 30 ปี และครั้งสุดท้าย 9 ปี ตามลำดับ
          2. การชำระค่าเช่าตาม 1. ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าทั้งจำนวนล่วงหน้าตามสัญญาเช่าแต่ละครั้งออกเป็น 3 งวด โดยงวดแรก เมื่อผู้เช่าเข้าทำสัญญาเช่าต้องชำระ ร้อยละ 10 งวดที่ 2 ชำระเป็นรายเดือนถึงวันก่อสร้างอาคารเสร็จร้อยละ 25 และงวดที่ 3 ชำระเมื่อผู้เช่าเข้าครอบครองห้องชุดที่เช่าอาศัยร้อยละ 65 ซึ่งหากบริษัทในเครือฯ ดำเนินการต่อสัญญาเช่าหรือไม่ต่อสัญญาเช่า ให้แก่ผู้เช่าครั้งต่อไป บริษัทในเครือฯ ต้องคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับล่วงหน้าตามสัญญาเช่าแต่ละครั้งให้แก่ผู้เช่า
          3. จากข้อเท็จจริงตามข้อ 1. และข้อ 2. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
               3.1. บริษัทในเครือฯ ต้องนำเงินค่าเช่าที่ได้รับล่วงหน้าตลอดระยะเวลาการเช่าแต่ละครั้งมาเฉลี่ยตามจำนวนปีตาม สัญญาและต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในแต่ละปีหรือไม่อย่างไร และหากบริษัทในเครือฯ ผู้ให้เช่าถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัทในเครือฯ สามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาใช้เป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่อย่างไร
               3.2. บริษัทในเครือฯ สามารถนำต้นทุนการก่อสร้างอาคารในส่วนที่พัฒนาเพื่อใช้ประกอบกิจการตาม ข้อ 1. ส่วนที่ 1. คือส่วนที่พัฒนาเป็นห้องชุดที่อยู่อาศัย และส่วนที่ 2. คือส่วนที่พัฒนาเป็นกิจการโรงแรม มาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้นทุนตามระยะเวลาของสัญญาให้เช่าในแต่ละครั้งได้หรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สิน การคำนวณรายได้รายจ่ายของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สินให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำรายได้ ค่าเช่าหรือค่างวดและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามส่วนแห่ง ระยะเวลาการให้เช่าทรัพย์สิน ตามข้อ 3.4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้สิทธิ์ในการคำนวณรายได้ และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2528
          สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ถูกหักและนำส่งไว้แล้ว ย่อมมีสิทธินำมาใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้นได้ทั้งจำนวน
          2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ก่อสร้างอาคารเพื่อให้เช่าเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามมาตรา 65 ทวิ(2) แห่งประมวลรัษฎากร และ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
เลขตู้: 73/37420

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020