เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6590
วันที่: 30 สิงหาคม 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          น.ส. ก. เป็นผู้ให้บริการจัดทำรายการเงินเดือนพนักงานของ บริษัท ม.(บริษัทฯ) บริษัทฯ ได้จ่ายเงินสวัสดิการนอก เหนือ จากเงินเดือนให้แก่พนักงานเดือนละ 25,000 บาท ประกอบด้วยเงินค่าเช่าบ้าน จำนวน 17,500 บาท และเงินภาษีที่คำนวณจาก ค่าเช่าบ้านจำนวน 7,500 บาท มีระยะเวลาการจ่ายให้แก่พนักงานจนถึงเดือนธันวาคม 2550 แต่บริษัทฯ จ่ายเงินสวัสดิการให้ พนักงานถึงเดือนธันวาคม 2551 โดยบริษัทฯ นำเงินค่าเช่าบ้านและภาษีที่บริษัทฯ ออกให้มารวมเป็นเงิน ได้ของพนักงานและ หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จนถึงเดือนธันวาคม 2551 รวมเป็นเงินสวัสดิการที่บริษัทฯ จ่ายเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาจำนวน 300,000 บาท ซึ่งพนักงานต้องส่งเงินที่เกินคืนบริษัทฯ แต่ไม่สามารถชำระเงินส่วนเกินดังกล่าวคืนได้ในครั้งเดียว บริษัทฯ และพนักงาน จึงตกลงที่จะใช้วิธีการหักจากเงินเดือนเป็นรายเดือน 12 เดือน (เงินเดือนของพนักงานในปัจจุบันเดือนละ 137,042.88 บาท) ท่านจึงขอ ทราบว่า บริษัทฯ สามารถหักเงินที่จ่ายเกินดังกล่าวจากเงินเดือนปัจจุบันของพนักงานอย่างไร ดังนี้
          1. บริษัทฯ ต้องหักค่าเช่าบ้านที่จ่ายเกินจากเงินเดือนของ พนักงานเป็นรายเดือนๆ ละ 17,500 บาท เป็นระยะเวลา 12 เดือน รวมเป็นเงิน 210,000 บาท แม้ในสัญญาจะระบุว่ามีการจ่ายเงินเท่ากับ 300,000 บาท ซึ่งเป็นยอดที่รวมภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย แต่พนักงานได้รับจริงเป็นระยะเวลา 12 เดือน รวม 210,000 บาท หรือจะหักเงินคืน เดือนละ 25,000 บาท (รวมค่าภาษี)
          2. บริษัทฯ ต้องยื่นปรับปรุงแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 1) และแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 1ก.) และพนักงานต้องยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) ประจำปีภาษี 2551 หรือไม่
          3. เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 90,000 บาท (7,500*12) กรมสรรพากรจะคืนให้แก่บริษัทฯ หรือพนักงาน
          4. เงินได้พึงประเมินของพนักงานที่จะต้องคำนวณภาษี ภาษีหัก ณ ที่จ่ายปี 2553 จะคำนวณจากเงินเดือนปัจจุบันหรือ เงินที่ได้รับหลังจากหักคืนเงินส่วนที่เกิน
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ จะเรียกเงินสวัสดิการที่จ่ายเกินคืนจากพนักงาน นั้น จะปฏิบัติอย่างไรเป็นเรื่องที่บริษัทฯ และพนักงาน จะต้องตกลงกัน
          2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินสวัสดิการเกินไปและได้มีการนำส่ง ภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้วต่อมาเมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินดังกล่าวคืน บริษัทฯ ต้องนำมาถือเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นแต่ไม่ต้องยื่น รายการปรับปรุงแบบ ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1ก และ พนักงานซึ่งต้องคืนเงินสวัสดิการส่วนที่เกินคืนบริษัทฯ ทำให้เงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ลดลงจึงต้องยื่นรายการปรับปรุงแบบ ภ.ง.ด. 91 ประจำปีภาษี 2551
          3. บริษัทฯ จ่ายเงินสวัสดิการนอกเหนือจากเงินเดือนให้แก่ พนักงานได้แก่ค่าเช่าบ้านและเงินภาษีที่คำนวณจากค่าเช่าบ้าน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานของ ลูกจ้างตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ จ่ายเงินสวัสดิการดังกล่าวให้พนักงานเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา 300,000 บาท (รวมภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ออกให้) เป็นเหตุให้พนักงานต้องส่งเงินส่วนที่เกินคืนบริษัทฯ หากพนักงานได้ชดใช้เงินคืน ให้แก่บริษัทฯ และดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 ประจำปีภาษี 2551 ปรับปรุงรายการเมื่อคำนวณภาษีแล้วมีภาษีที่ชำระไว้เกินพนักงานจึงมี สิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ภายใน กำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
          4. การหักภาษี ณ ที่จ่ายของพนักงานที่ต้องคืนเงินบริษัทฯ ในปี 2553 ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินได้พึงประเมิน (อัตราเงินเดือนในปัจจุบัน) ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 73/37490

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020