เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./5976
วันที่: 9 สิงหาคม 2553
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้า Seaweed Meal (สาหร่ายบด) เพื่อผลิตอาหารสัตว์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ก) และมาตรา 81(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯประกอบกิจการผลิตสินค้าประเภทอาหารสัตว์น้ำ ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ให้นำเข้า Seaweed Meal ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525
          Seaweed Meal ได้จากวัชพืชทะเลนำมาตากแห้งและผ่าน เครื่องบด แล้วนำมาไล่ความชื้นออกโดยผ่านเครื่องอบให้แห้งเพื่อมิให้เสีย และบรรจุกระสอบขนาดต่างๆ Seaweed Meal มีแร่ธาตุและ วิตามินหลายชนิด ซึ่งแร่ธาตุได้แก่ iodine, manganese, sodium, calcium, potassium, sulphur, phosphorus, chorine, nitrogen, magnesium, boron, zinc, iron, copper และวิตามินได้แก่ ascorbicacid, riboflavin, thiamin, biotin, niacin, tocopherols, และ folic acid และอื่นๆ ช่วยให้ สัตว์แข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว และมีภูมิต้านทานต่อโรค ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการปศุสัตว์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้ เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์
          Seaweed Meal เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ กลุ่มวัตถุดิบอินทรีย์ ที่นำไปใช้ในการผลิตอาหารอินทรีย์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำทั้งปลาและกุ้ง เนื่องจากสาหร่ายทะเลมีส่วนประกอบด้าน โภชนาการอาหาร เช่น โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุ และประกอบไปด้วยแร่ธาตุหลัก(Major elements) แร่ธาตุรอง (Trace elements) และ วิตามินหลายชนิด ซึ่งสารอาหารต่างๆ นั้น สามารถใช้แทนวิตามินสังเคราะห์หรือแร่ธาตุสังเคราะห์ในอาหารสัตว์ทุกชนิดได้ใช้ในการผลิต อาหารปลาและกุ้ง 30-50 กิโลกรัมต่อวัตถุดิบรวม 1,000 กิโลกรัม ซึ่ง Seaweed Meal ไม่ต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์กับกรมปศุสัตว์ แต่ต้อง มีการขออนุญาตนำเข้า จากกรมปศุสัตว์ และกรมปศุสัตว์ได้มีหนังสืออนุญาตให้บริษัทฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์ ASCO TOP DRESS 10/80 (SEAWEED MEAL 1940 MICRON) ได้
          การนำเข้า Seaweed Meal (สาหร่ายบด) ได้รับยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย          สินค้า Seaweed Meal ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในการผลิต อาหารสัตว์น้ำทั้งปลาและกุ้ง มีส่วนประกอบด้านโภชนา การอาหาร เช่น โปรตีน ไขมันแร่ธาตุ และวิตามินหลายชนิด ช่วยให้สัตว์แข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว และมีภูมิต้านทานต่อโรค การขายสินค้าSeaweed Meal ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายพืชผลทางการเกษตร หรือส่วน ต่างๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่ง หรือรักษา สภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อ การขายปลีกหรือการขายส่ง ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้นำ เข้าซึ่งสินค้า ดังกล่าว จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 73/37444

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020