เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/94
วันที่: 29 พฤศจิกายน 2553
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้จากการท่องเที่ยว
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ว. (บริษัทฯ) แจ้งว่า ตามที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการนำเที่ยวและค่าที่พักในโรงแรมในการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ บริษัทฯ ซึ่งประกอบกิจการ นำเที่ยวได้ให้บริการขนส่งคนด้วยรถยนต์ตู้และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยคิดค่าโดยสารเป็นรายเที่ยว เช่น จากกรุงเทพฯ ไปพัทยา คิดเที่ยวละ 4,000 บาท บริษัทฯ ขอทราบว่า ใบเสร็จรับเงินของบริษัทฯ ซึ่งเป็นค่าโดยสารรายเที่ยวดังกล่าว ผู้มีเงินได้มีสิทธินำไปหักลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเหมือนใบเสร็จ รับเงินค่าโรงแรมหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการนำเที่ยว หากบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและ มัคคุเทศก์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ผู้ใช้บริการท่องเที่ยวของบริษัทฯ ไม่ต้อง นำเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่บริษัทฯ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 278 (พ.ศ. 2553) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 187) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ให้บริการขนส่ง คนโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปพัทยาโดยคิดค่าโดยสารเป็นรายเที่ยว ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธินำเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าโดยสารให้บริษัทฯ ไปยกเว้นภาษีเงินได้แต่อย่างใด
เลขตู้: 73/37620

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020