เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/9513
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2553
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ กรณีรับเงินชดเชยค่าภาษีน้ำมันและการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) มาตรา 65 มาตรา 69 ทวิ มาตรา 77/2 มาตรา 79 มาตรา 82/3 มาตรา 82/5(1) และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน ได้รับเงินชดเชยภาษีน้ำมันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการปรับลดอัตรา ภาษีสรรพสามิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ สุทธิ จึงขอทราบว่า
          1. เงินชดเชยฯ ที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทุนฯ บริษัทฯ ต้องนำรายได้ดังกล่าวไปคำนวณเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เพราะเหตุใด
          2. เงินชดเชยฯ ที่บริษัทฯ ได้รับตาม 1. บริษัทฯ ต้องนำไปคำนวณรวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับจ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด
          3. เงินชดเชยฯ ที่บริษัทฯ ได้รับตาม 1. จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด และอัตราเท่าใด
          4. บริษัทฯ สามารถนำเงินที่จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ไปคำนวณรวมเป็นภาษีซื้อในแบบ ภ.พ.30 ของเดือนที่จ่ายไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
          5. บริษัทฯ สามารถนำเงินที่จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลา บัญชีที่ได้จ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันได้รับเงินชดเชยภาษีน้ำมันจากกองทุนฯ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือ ประชาชนในการลดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อ แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในปริมาณน้ำมันคงเหลือสุทธิ และมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานี บริการน้ำมันได้รับเงินชดเชยจากกองทุนฯ ในปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่คงเหลืออยู่ ณ เวลา 24.00 น. ของวันก่อนวันที่ราคาขาย ปลีกใหม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งทั้งสองกรณีมีภาระภาษีดังต่อไปนี้
          1. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เงินชดเชยที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทุนฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อกองทุนฯ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 จึงเป็นกรณีรัฐบาลจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 ให้แก่บริษัทฯ กองทุนฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณ หักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินชดเชยที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทุนฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคำสั่ง นายกรัฐมนตรีที่ 2/2546ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ไม่ใช่ค่าตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการน้ำมันได้รับ เนื่องจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษี และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 และ มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินชดเชยที่บริษัทฯ จ่ายเข้ากองทุนฯ เมื่อกองทุนฯ มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำใบเสร็จรับเงินที่กองทุนฯ ออกให้ มาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 มาตรา 82/5(1) และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องนำเงินชดเชยที่ได้รับจากกองทุนฯ มาถือเป็นรายได้ และนำเงินชดเชยที่นำส่งเข้า กองทุนฯ มาถือเป็นรายจ่าย โดยใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 73/37627

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020