เลขที่หนังสือ | : กค 0702/8593 |
วันที่ | : 4 พฤศจิกายน 2553 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ กรณีสัญญาเช่าพื้นที่และให้บริการส่วนกลาง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 เตรส และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่ภายในอาคารพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า และให้บริการน้ำประปา ไฟฟ้า ก๊าชหุงต้ม และรักษา ความปลอดภัย เป็นต้น แก่ผู้เช่าพื้นที่ภายในอาคาร โดยบริษัทฯ ได้ทำสัญญาแยกเป็น 2 ฉบับ คือ สัญญาเช่าสถานที่ 1 ฉบับ และสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการอีก 1 ฉบับ สัญญาทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้ผู้เช่าพื้นที่เป็นผู้เสียอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ ขอหารือว่า 1. กรณีสัญญาเช่าสถานที่ เมื่อผู้เช่าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ ผู้เช่ามีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 และสัญญาเช่าดังกล่าว บริษัทฯ เป็นผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ใช่หรือไม่ 2. กรณีสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ เมื่อผู้เช่าพื้นที่ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายค่า บริการตามสัญญาให้แก่บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 เนื่องจากเป็นค่าจ้างทำของตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ เป็นผู้ที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ใช่หรือไม่ บริษัทฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การให้เช่าห้องในอาคารดังกล่าว หากสัญญาเช่ารายใดมีกำหนดเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปี บริษัทฯ จะดำเนินการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น การเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
แนววินิจฉัย | กรณีบริษัทฯ นำพื้นที่ในอาคารพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ออกให้เช่า โดยบริษัทฯ ทำสัญญาแยกเป็น 2 ฉบับ คือสัญญาเช่าสถานที่ และสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ พิจารณาได้ดังนี้
1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 1.1 กรณีสัญญาเช่าสถานที่ ซึ่งบริษัทฯ ได้แบ่งเป็นห้องให้เช่า มีการกำหนดเลขที่ห้องและเนื้อที่โดยชัดเจน โดยบริษัทฯ ได้มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่โดยเด็ดขาด การที่บริษัทฯ ได้กำหนดให้ผู้เช่าเข้าประกอบกิจการในสถานที่เช่าตามวันและเวลา ที่บริษัทฯ กำหนดก็เพื่อความสะดวกแก่การรักษาความปลอดภัยในสถานที่เช่าเท่านั้น มิใช่ข้อจำกัดสิทธิของผู้เช่าแต่อย่างใด อีกทั้ง หากผู้เช่ารายใดมีการทำสัญญาเช่าเกินกว่า 3 ปี บริษัทฯ จะดำเนินการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กรณี ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการเช่าทรัพย์ ตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซึ่งเป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ ผู้เช่าดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 1.2 กรณีสัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ โดยผู้เช่าพื้นที่ ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และ เป็นผู้จ่ายค่าบริการตามสัญญาให้แก่บริษัทฯ แยกพิจารณาได้ ดังนี้ (1) ค่าน้ำประปาและกระแสไฟฟ้า โดยบริษัทฯ เรียกเก็บตามจำนวนที่มีการใช้จริงในแต่ละเดือน เข้าลักษณะเป็นการขาย สินค้าไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 77/1(8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษามาตรวัด ผู้จ่ายค่าน้ำประปาและ กระแสไฟฟ้าดังกล่าว ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด (2) การให้บริการพื้นที่ส่วนกลาง เช่น บริการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บริการรักษาความสะอาด บริการห้อง สุขาและน้ำประปา บริการไฟฟ้าและแสงสว่าง เป็นต้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ เมื่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลจ่ายค่าบริการดังกล่าว ผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 2. อากรแสตมป์ 2.1 สัญญาเช่าสถานที่ เข้าลักษณะแห่งตราสาร 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ผู้ให้เช่าเป็นผู้มีหน้าที่ ต้องเสียอากรแสตมป์ดังกล่าว 2.2 สัญญาซื้อขายน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และให้บริการ สัญญาดังกล่าวไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารตามที่ระบุไว้ใน บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 73/37582 |