เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้
สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
ของผู้มีเงินได้ตามวรรคสามของข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
---------------------------------------------


                           อาศัยอำนาจตามความในวรรคสามของข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 279 (พ.ศ. 2554) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

                           ข้อ 1 เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                                   (1) เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป
                                   (2) เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
                                   (3) มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าวจะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน
                                   (4) มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

                           ข้อ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ กรณีผู้มีเงินได้ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี ให้ยกเว้นเงินได้ที่จ่ายไปเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามข้อ 2(61) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ยกเว้นเงินได้เพิ่มขึ้นอีกตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
                                   (1) ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป
                                   กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                   (2) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ได้จ่ายเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

                                   กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน

                                   ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้จ่ายเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แล้วแต่กรณี และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้ มีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญและแบบอื่น แล้วแต่กรณี ของสามีหรือภริยาฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
                                   (3) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
                                        (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
                                        กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                        (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
                                         กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                        (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี และภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
                                         กรณีสามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินที่ได้จ่ายดังกล่าว เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
                                   ทั้งนี้ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีตาม (ก) (ข) และ (ค) ต้องไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

                           “ข้อ 3 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้
                               (1) กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้
                               (2)�กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้ทำก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 หากผู้มีเงินได้เลือกไม่แจ้งความประสงค์การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยซึ่งได้รับรองว่า เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศฉบับนี้”
     (แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 362)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2562 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป)

                               “ข้อ 3/1 ผู้รับประกันภัยที่ได้รับแจ้งความประสงค์ตามข้อ 3 ต้องส่งข้อมูลของผู้เอาประกันต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร โดยจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบและนำส่ง ตามวิธีการที่กำหนดบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th
                               การแจ้งและการส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งภายในวันที่ 7 มกราคมของปีถัดไป เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น”
     (แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 362)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2562 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป)

                           ข้อ 4 กรณีผู้มีเงินได้ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 1 ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

                           ข้อ 5 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

                           ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

 

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022