เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./219 |
วันที่ | : 12 มกราคม 2554 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดหนี้ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. สถาบันฯ ได้รับหนังสือจาก บมจ. เพื่อนำส่งสลักหลังคำนวณเบี้ยลดประวัติดี ประจำปี 2550/51 โดยหนังสือดังกล่าวได้แจ้งคืน ส่วนลดประวัติ โดยคำนวณจากเบี้ยประกันภัยในส่วนของลำตัวเครื่องบินตามเงื่อนไข AVN 88 ที่มีข้อความดังนี้
"ภายหลังจากที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้สิ้นสุดอายุลงและบริษัทฯ ได้รับเบี้ยประกันภัยทั้งหมดที่ครบกำหนดของการปรับปรุงเบี้ยประกันภัยครั้งสุดท้ายและได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาประกันภัยครั้งสุดท้าย และได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาการประกันภัยนี้ และภายใต้การต่ออายุการประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายเดิมแล้ว บริษัทฯ ตกลงยินยอมที่จะคืนค่าส่วนลดกำไรเป็นจำนวน 20% ของกำไรสุทธิที่แน่นอนที่เกี่ยวเนื่องกับระยะเวลาการประกันภัยนี้ กำไรสุทธิที่แน่นอนดังกล่าวจะได้รับการคำนวณโดยการหัก "รายจ่าย" ออกจาก "รายได้" ดังต่อไปนี้ รายได้ จำนวน 70% ของเบี้ยประกันภัยหักด้วยเบี้ยประกันภัยคืนทั้งหมด รายจ่าย จำนวนของการจ่ายค่าชดใช้สินไหมทดแทนทั้งหมดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง หักด้วยค่าขายซากทรัพย์ และค่าเสียหายที่สามารถเรียกคืนได้" 2. บมจ. ได้ส่งใบลดหนี้เลขที่ 0908/00011 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2552 กรณีคืนเบี้ยประกันภัย (กรณีไม่มีเคลมในปีที่แล้ว) และใบลดหนี้เลขที่ 0908/00012 - 00015 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2552 กรณีลดหนี้เนื่องจากปรับปรุงเบี้ยประกัน โดยการปรับปรุงเบี้ยประกันดังกล่าวเกิดจากเดิมได้ประกันภัยเครื่องบินแบบ Full Flight Risk เปลี่ยนแปลงความคุ้มครองการประกันภัยเป็น แบบ Ground Risk ทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องเรียกเก็บลดลง 3. สถาบันฯ จึงขอทราบว่า 3.1 การออกใบลดหนี้ทั้งสองกรณีดังกล่าวถูกต้องตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฏากร หรือไม่ 3.2 กรณีสถาบันฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 30 (ยื่นปกติ) ในเดือนสิงหาคม 2552 โดยมีภาษีขาย 323,047.81 บาท ภาษีซื้อ 516,060.49 บาท เป็นผลให้ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย เป็นเงิน 193,012.68 บาท เมื่อรวมกับภาษีชำระเกินยกมาของเดือนกรกฎาคม 2552 จำนวน 3,869,882.46 บาท ทำให้เดือนสิงหาคม 2552 สถาบันฯ มีภาษีซื้อที่ชำระเกินยกไป จำนวน 4,062,895.14 บาท และไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภาษีขาย) ที่ต้องชำระเดือนสิงหาคม 2552 หากผลการพิจารณาในข้อหารือข้อ 1 ปรากฏว่าใบลดหนี้ฉบับดังกล่าว มีเหตุในการออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฏากร สถาบันฯ จะต้องนำภาษีซื้อจากใบลดหนี้ฉบับดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีดังกล่าว สถาบันฯ จะต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มหรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | 1. การออกใบลดหนี้ทั้งสองกรณีดังกล่าว โดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากการให้บริการบกพร่อง ให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกันหรือไม่มีการให้บริการตามสัญญา ไม่เข้าลักษณะเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10 (1) (2) (3) และ(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 จึงไม่ใช่ใบลดหนี้ที่จะนำมาหักออกจากภาษีซื้อหรือภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
2. หากการออกใบลดหนี้เป็นการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากการให้บริการบกพร่อง ให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกันหรือไม่มีการให้บริการตามสัญญาที่เข้าลักษณะเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)ฯ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 เมื่อสถาบันฯ ได้รับใบลดหนี้ ให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ดังกล่าวมาหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้นั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/10 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร อนึ่ง การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากการออกใบลดหนี้ตามกฎหมายดังกล่าว ไม่ถือเป็นกรณีที่จะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม |
เลขตู้ | : 74/37657 |