พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 524)
พ.ศ. 2554
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554
เป็นปีที่ 66 ในรัชกาลปัจจุบัน
--------------------------------
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 524) พ.ศ. 2554
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทรัพย์สินที่เป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ หรือส่วนประกอบที่อยู่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง และได้รับความเสียหายจากการถูกเพลิงไหม้หรือเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากรหรือสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ในกรณีทรัพย์สินเป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมได้ โดยได้มีการสร้างทรัพย์สินใหม่ทดแทนทรัพย์สินเดิม
(2) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีทรัพย์สินเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมได้ โดยได้มีการจัดหาทรัพย์สินใหม่แทนทรัพย์สินเดิม
(3) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของค่าซ่อมแซมทรัพย์สิน ในกรณีทรัพย์สินเป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายแต่สามารถซ่อมแซมได้ และได้มีการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม
การยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับสำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้มีการสร้างหรือจัดหาทรัพย์สินใหม่แทนทรัพย์สินเดิมให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ หรือที่ได้มีการซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิมแล้วเสร็จ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และได้ก่อให้เกิดทรัพย์สินโดยการก่อสร้าง ปรับปรุง ตกแต่ง หรือจัดหาทรัพย์สินมาใช้ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่า และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้เช่าได้สิทธิการเช่าทรัพย์สิน และทรัพย์สินนั้นได้ถูกเพลิงไหม้หรือได้รับความเสียหายจากหรือเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินใหม่ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้าง ปรับปรุง ตกแต่ง หรือจัดหามาใช้ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าเพื่อทดแทนทรัพย์สินเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่า และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องไม่เกินมูลค่าต้นทุนของสิทธิการเช่าที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในวันที่เกิดเพลิงไหม้ และ
(2) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินใหม่ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้าง ปรับปรุง ตกแต่ง หรือจัดหามาใช้ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า เพื่อทดแทนทรัพย์สินเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่า และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องไม่เกินมูลค่าต้นทุนของสิทธิการเช่าที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในวันที่เกิดเพลิงไหม้ ทั้งนี้ ผู้เช่าต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินใหม่ในส่วนที่เท่ากับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไปรวมเป็นมูลค่าต้นทุนของสิทธิการเช่าเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
การยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับสำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใหม่ที่ก่อสร้าง ปรับปรุง ตกแต่ง หรือจัดหามาใช้ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าแทนทรัพย์สินเดิมตกเป็นของผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าต้นทุนของสินค้าที่ถูกเพลิงไหม้หรือสินค้าที่ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเป็นผู้ขายหรือผู้ฝากขายสินค้านั้นกับผู้ซื้อหรือผู้รับฝากขายสินค้า ในสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ โดยการขายหรือการฝากขายสินค้าดังกล่าวต้องมีการทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาฝากขายแบบมีเงื่อนไขในการชำระราคาค่าสินค้า โดยผู้ขายหรือผู้ฝากขายสินค้าจะได้รับชำระราคาสินค้าต่อเมื่อผู้ซื้อหรือผู้รับฝากขายสินค้าขายสินค้าดังกล่าวได้แล้ว และผู้ขายหรือผู้ฝากขายสินค้ายังไม่ได้รับชำระราคาค่าสินค้านั้น และสินค้านั้นได้ถูกเพลิงไหม้ หรือสินค้านั้นได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้และได้มีการทำลายสินค้านั้น และผู้ขายหรือผู้ฝากขายสินค้าต้องนำรายได้จากการขายสินค้าไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว แล้วแต่กรณี หรือ
(2) บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเป็นผู้ซื้อหรือผู้รับฝากขายสินค้าซึ่งได้ชำระราคาค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายหรือผู้ฝากขายสินค้านั้นแล้ว หรือเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อขาย ทั้งนี้ ต้องได้มีการขายสินค้านั้นในสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้และสินค้านั้นได้ถูกเพลิงไหม้หรือสินค้านั้นได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้และได้มีการทำลายสินค้านั้นการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับสำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่สินค้านั้นถูกเพลิงไหม้หรือมีการทำลายสินค้า แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ซื้อหรือผู้รับฝากขายสินค้าที่มีสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยยังไม่ได้ชำระราคาค่าสินค้าให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ขายหรือผู้ฝากขายสินค้าและสินค้านั้นได้ถูกเพลิงไหม้หรือสินค้านั้นได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้และได้มีการทำลายสินค้านั้น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวจากเจ้าหนี้ ภายหลังจากสินค้าได้ถูกเพลิงไหม้หรือได้มีการทำลายสินค้านั้น ทั้งนี้ ผู้ซื้อหรือผู้รับฝากขายสินค้าต้องไม่นำมูลค่าต้นทุนของสินค้านั้นไปถือเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับสำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่ผู้ซื้อหรือผู้รับฝากขายสินค้าได้รับการปลดหนี้ค่าสินค้าจากเจ้าหนี้
มาตรา 7 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการเกิดเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินเท่าประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณเป็นเงินจากการได้ใช้พื้นที่เพื่อขายสินค้าหรือให้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553
มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากการเกิดเพลิงไหม้หรือเนื่องมาจากการเกิดเพลิงไหม้ จนไม่สามารถประกอบกิจการหรือดำเนินธุรกิจ ประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตได้อย่างปกติ และส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินและเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี ทั้งนี้ สำหรับเงินได้เป็นจำนวนตามที่กำหนด เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีและเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนในการให้ความช่วยเหลือให้แก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 128 ตอนที่ 46 ก วันที่ 9 มิถุนายน 2554)