พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527)
พ.ศ. 2554
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554
เป็นปีที่ 66 ในรัชกาลปัจจุบัน
--------------------------------
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล
(2) สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือ เพื่อชดเชยความเสียหายที่ได้รับนอกเหนือจากกรณีตาม (1) ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
ทั้งนี้ สำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้มีการรับเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2) และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่เป็นค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้รับจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัยหรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว
มาตรา 5 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นนั้น ดังต่อไปนี้
(1) สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากรเท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
(2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ
ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 6 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะการบริจาคสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัยหรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับสินค้าที่บริจาคเพื่อนำ ไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และส่งเสริมให้มีการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติดังกล่าว โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นตัวแทนรับบริจาคสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล หรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายที่ได้รับนอกเหนือจากเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล และสำหรับค่าสินไหมทดแทนซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหายเนื่องจากภัยพิบัติดังกล่าว นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ สำหรับสินค้าที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 128 ตอนที่ 46 ก วันที่ 9 มิถุนายน 2554)